พระอาจารย์จี้กง
ผมรู้จักนับถือกันกับคุณธำรง ปัทมภาส มานานพอสมควร แต่ไม่เคยรู้ว่าคุณธำรง มีชื่อเล่นว่า มิ้งค์
“คนเข้าทรงที่มีคุณภาพที่สุดในเวลานี้คือเฮียมิ้งค์” ท่านเมี่ยง วรมันว่า
“ไม่จริ๊ง ไม่จริง” ผมเถียง “คนเข้าทรงที่ผมเห็นว่าพอจะเชื่อถือได้คือคุณธำรง”
“สู้เฮียมิ้งค์ของผมไม่ได้หรอก”ท่านเมี่ยงไม่ยอม
“เฮียมิ้ง เฮียเม้งอะไรผมไม่รู้จัก ถ้าจะต้องสู้กันเป็นอันเสร็จคุณธำรงแน่” ผมไม่ยอม
เรื่องของเรื่องก็คือ ท่านเมี่ยง วรมัน ก็ไม่เคยรู้จักว่าเฮียมิ้งค์มีชื่อจริงว่า ธำรง
ทีหลังความจริงปรากฏ ทั้งผม ทั้งท่านเมี่ยงหัวเราะเกือบตาย
คุณธำรง ปัทมภาส หรือเฮียมิ้งค์ เป็นร่างทรงของท่านอาจารย์จี้กง อยู่ที่สมาคมเผยแพร่คุณธรรม “เต็กก่า” จีจินเกาะ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ซอยวัดทองนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน
ใครไม่รู้จักว่าอยู่ที่ไหน ให้หาโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาฯ ปากคลองสานให้เจอ ก็จะหาซอยวัดทองนพคุณได้ไม่ยาก
คุณธำรงจะเริ่มเป็นร่างทรงมาแต่ไหนไม่ทราบ คงทราบแต่ว่า แม้วิหารเซียนของอาจารย์สง่า ที่ชลบุรี ก็ได้เชิญคุณธำรงไปเข้าทรงท่านลื่อโจ๊ว และเซียนต่างๆอีกหลายองค์เป็นประจำ
ข้อที่น่าสังเกตุก็คือว่า เมื่อเวลาคุณธำรงเข้าทรงท่านอาจารย์จี้กงจะกินเหล้า ไม่เลือกว่าจะต้องเป็นเหล้าชนิดไหน แล้วแต่ลูกศิษย์จะหามาถวาย ไม่ได้กินแต่น้อยหรือแค่จิบ เรียกว่าตลอดเวลาที่เข้าทรงครั้งละหลายชั่วโมง กินเหล้าทุกระยะ กระทั่งคอแข็งๆเห็นแล้วยังต้องส่ายหน้าบอกว่า ถ้าตนกินเหล้าขนาดนั้นมีหวังหงายท้อง แต่แปลกที่เมื่อออกจากเข้าทรงแล้ว คุณธำรงดูปกติดี ไม่มีอาการเมามาย หรือได้ผ่านการกินเหล้ามาก่อนแต่อย่างใด
ท่านอาจารย์จี้กง เป็นภิกษุที่อายุอยู่เมื่อ 800 กว่าปีมาแล้ว เกิดอยู่ที่ตำบลเทียนไท้ อำเภอไตโจว จังหวัดเชอเจียง ประเทศจีน เข้าใจว่าทุกวันนี้จะเป็นเมืองหังโจวหรือเปล่าไม่ทราบ เพราะว่าวัดหลงหยิ่น ที่ท่านบวชและพำนักอยู่แต่เบื้องต้นกับวัดจิ้งฉือ ที่ท่านมรณภาพก็อยู่ในเมืงหังโจว ทั้ง 2 วัดนี้ผมเคยไปมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน เสียแต่ว่าขณะที่ไปนั้น ผมไม่รู้ว่าเป็นวัดของท่านอาจารย์จี้กง
สมัยที่ท่านอาจารย์จี้กงยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านมีชื่อเสียงระบือไกลแล้ว คนเชื่อถือว่าท่านมีความสามารถหลายแนว ทั้งเจ้าปัญญา เจ้าบทเจ้ากลอน และมีอภินิหารแบบที่ชาวสวนขลังชอบนักชอบหนา จึงเป็นที่เคารพทั่วไป แต่ว่าท่านก็เป็นคนที่มีอารมณ์ผันแปรไม่แน่นอน ใช้ชีวิตแบบอิสระเต็มที่ ไม่อยู่ในระเบียบหรือวินัย กินทั้งเนื้อสัตว์และเหล้า วันๆเดินท่อมๆพร้อมกับโบกพัดขาดๆเก่าๆ คนเขาจึงเห็นว่าท่านเป็นพระบ้า แต่เห็นเช่นนั้นแล้วก็ให้ความนับถือท่านด้วยเพราะว่า ท่านเป็นผู้มีเมตตากรุณาธิคุณไม่มีประมาณ ชอบช่วยเหลือคนทุกข์ทั้งหลาย คนยากคนจน คนเจ็บป่วย ผู้ถูกกดขี่
ตลอดชีวิตของท่านก็ทำแต่เรื่องแก้ทุกข์ให้มวลชน จนแม้ทุกวันนี้ท่านกลายเป็นเสมือนเทพอีกองค์หนึ่งที่คนยุคปัจจุบันยังเคารพกราบไหว้ ท่านยังช่วยสงเคราะห์ผู้คน โดยผ่านร่างทรงของคุณธำรงอยู่แทบทุกวัน
เพราะเหตุที่ท่านอาจารย์จี้กงชอบกินเหล้า และเจ้าบทเจ้ากลอน ดังนั้นเวลาเข้าทรงบุคลิกนี้จึงเห็นได้เด่นชัด คือลูกศิษย์ถวายเหล้าเมื่อไหร่ก็จะรับ และซดรวดเดียวหมดจอก และโต้ตอบผู้คนด้วยบทกลอน ทั้งภาษาจีนและภาษาไทย
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2544 ผมได้พบคุณธำรงที่วัดหลวง จังหวัดอุบลฯ และได้เห็นการเข้าทรงของคุณธำรงเป็นครั้งแรก ก็มีความประทับใจเกิดขึ้น คือท่านอาจารย์จี้กงได้เขียนกลอนกระทู้ผ่านร่างทรงของคุณธฎรงให้ผมโดยเฉพาะ กลอนนั้นว่าอย่างนี้
อำ นาจธรรมเข้มขลังกว่าอำนาจใด
พล กำลังอันยิ่งใหญ่จากใจหนอ
เจน จบระบบรู้ยังไม่พอ
จง ขวนขวายอย่ารีรอเร่งบำเพ็ญ
เห็น เป็นเพียงมายาภาพฉาบสมมุติ
จริง กับเท็จ คือจุดร่วมควรชัดเห็น
ทุก ทุกอย่างล้วนว่างเปล่าดังเงาเพ็ญ
สรรพ ชีวิตจึงอยู่เป็นเช่นธรรมดา
สิ่ง ทั้งหลายคล้ายหมอกควันพลันจางหาย
ทิ้ง การเกิดละการตายไร้กังขา
ผ่าน ชีวิตพึงตั้งจิตพิจารณา
ไป ให้พ้นอวิชชาพาเบิกบาน
***************
กลอนที่เห็นนี้เป็นกลอนสด ใช่จะแอบแต่งเอาไว้ก่อนก็หาไม่ เพราะถ้าจะแอบแต่งเอาไว้ล่วงหน้า เห็นจะจำกันไม่หวาดไหว เพราะว่ามากมายเหลือคณา ใครถามอะไรก็ตอบเป็นกลอนทุกคราวไป จะรู้ล่วงหน้าหรือว่าใครจะถามอะไร นี่ก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกนับถือจริงๆ
ผมเคยถามคุณธำรงว่า เวลาเข้าทรงนั้น คุณธำรงรู้สึกอย่างไร คุณธำรงบอกว่า คล้ายๆกับเข้าสมาธิ ซึ่งผมคิดไม่ออกว่าเป็นสมาธิแบบใด คุณธำรงก็กรุณาอธิบายเรื่องการเข้าทรงให้ผมทราบพอประมาณดังนี้
การเข้าทรงมี 2 แบบ
แชกี ร่างทรงยังจะพอรู้ตัวอยู่บ้าง สามารถเคลื่อนไหวแต่บังคับตัวเองไม่ได้ แล้วแต่ว่าไม้หลิวที่ร่างทรงจับไว้ในมือจะพาไป
จุ้ยกี ร่างทรงจะเหมือนหลับไปเลย ไม่รู้ตัวว่าได้ทำอะไรไปบ้าง
การเข้าทรงของจีนนั้น จะต้องมีไม้หลิวศักดิ์สิทธิ์เป็นอุปกรณ์สำคัญ ลักษณะไม้หลิวก็เป็นง่ามจับ 2 อัน คนเข้าทรงจับด้ามหนึ่ง ผู้ช่วยจับอีกด้ามหนึ่ง ใครเคยไปร่วมงานพิธีล้างป่าช้า จะรู้จักไม้หลิว ที่ร่างทรง 2 คนวิ่งถือไม้ไปชี้จุดที่มีศพฝังเป็นอย่างดี ใครไม่รู้จักก็เห็นจะต้องหาโอกาสไปดูที่สมาคมฯจีจินเกาะด้วยตัวเองจะเข้าใจ
นอกจากไม้หลิวเป็นอุปกรณ์สำคัญแล้ว ในกรณีของคูณธำรงจะมีกระบะไม้ ที่พื้นกระบะเป็นแผ่นทองเหลือง เอาไว้สำหรับให้ไม้หลิววิ่งเป็นตัวหนังสือ สมัยก่อนใช้กระบะทราย ทุกวันนี้พัฒนามาให้สะดวกขึ้น คือกลายเป็นกระบะทองเหลือง
ท่านอาจารย์จี้กงเมื่อเข้าทรงจะไม่พูดโต้ตอบกับคนด้วยวาจา แต่จะโต้ตอบด้วยการเขียนหนังสือ ซึ่งต้องอาศัยล่าม หรือคนอ่านตัวหนังสือที่คุณธำรงเขียนคนหนึ่ง และต้องมีคนจดข้อความอีกคนหนึ่ง
นัยว่าการเข้าทรงแบบที่มีไม้หลิวนี้จะน่าศรัทธากว่าแบบอื่น
หลังจากได้พบคุณธำรงเป็นครั้งแรกแล้ว ไม่นานเดือนต่อมา ดูเหมือนจะเป็นวันที่ 19 มกราคม 2545 ก็ได้พบกับคุณธำรงอีกเป็นครั้งที่ 2 ที่วัดแก่งตอย อ.ดอนมดแดง จ.อุบลฯ การเข้าทรงที่นี่มีเรื่องแปลกซึ่งจะได้เล่ากันต่อไป
คุณธำรงกับคณะญาติธรรมของสมาคมฯจีจินเกาะ และจีตัมเกาะ (อุบลฯ) รวมทั้งชมรมศิษย์พระอรหันต์จี้กง(อุบลฯ) ก็มาร่วมกันเพื่อบริจาคทานแก่คนยากไร้ ในละแวกนั้นหลายคน ซึ่งถือว่าเป็นการบำเพ็ญบุญทานตามปกติของสมาคมที่จัดขึ้นบ่อยๆตลอดปี
ในการเข้าทรงที่วัดแก่งตอย ท่านอาจารย์จี้กงได้เล่าเรื่องวัดแก่งตอยในรูปแบบของกลอนแปดซึ่งค่อนข้างยาว ผมจึงไม่นำมาลง แต่จะจับเอาเนื้อหาใจความสำคัญ 2 – 3 แง่มาให้พิจารณาดู
อย่างแรกท่านอาจารย์จี้กงบอกว่า เดิมวัดแก่งตอยเป็นสถานที่ซึ่งกษัตริย์ขอมโบราณ ใช้เป็นที่พักทัพระหว่างเดินทาง
อย่างที่ 2 บอกว่าเคยมีเจดีย์สีทององค์หนึ่งกลางวัดแก่งตอย
อย่างที่ 3 บอกว่าในอดีตที่นี่มีมโหรีเภรีกลอง
ท่านอาจารย์เวท เจ้าอาวาสวัดแก่งตอย ในขณะนั้นรับว่าจริงทุกประการ โดยเฉพาะเรื่องเสียงกลองในวัดแก่งตอย คุณธำรงไม่น่าจะทราบว่ามี คนแก่ 80 – 90 ปีเท่านั้นจึงจะพอรู้เรื่องนี้
เสียงกลองนี่จะดังระงมเป็นประเพณี ที่เกิดจากการแข่งตีกลอง คนอีสานเรียกว่า “เส็งกลอง” เพื่อถวายเทพเทวดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด ที่เขาลือว่าชอบเสียงกลองเป็นพิเศษ แม้ว่าทุกวันนี้จะไม่มีเสงกลองแล้ว แต่คำเล่าขานยังพอมีให้ได้ยิน
คุณธำรงคงไม่มีเวลาแอบมาสืบสาวราวเรื่องล่วงหน้าเป็นแน่แท้ เพราะว่าแม้ผมเอง หรือชาวบ้านละแวกวัดยังหาตัวผู้รู้ได้ยากมาก
ระหว่างการเข้าทรงซึ่งใช้เวลานานชั่วโมงนั้น ท่านอาจารย์ได้ลุกออกไปนอกศาลาที่กำลังเข้าทรง เพื่อไปดูการก่อสร้างกุฏิถวายหลวงปู่คำพันธ์
ลูกศิษย์ที่อยู่ตรงบริเวณก่อสร้างก็ปรารภว่า “ร่างทรงกินเหล้าไปด้วย มันยังไงอยู่นา ไม่รู้ว่าร่างทรงอยากจะกินเหล้าเอง หรือท่านอาจารย์จี้กงกินเองก็ไม่ทราบ”
เมื่อท่านอาจารย์เวทกลับเข้ามาในศาลา คุณธำรงก็ถามท่านอาจารย์เวทเป็นบทกลอนทันที
พระ จี้กงกินเหล้าผิดศีลไหม
เวทย์ มนต์ไซร้ล้วนจากใจใช่อื่นหนอ
จง มีธรรมเพียงคืบใจเท่านั้นพอ
จำ ไว้เถิดรู้เล่นล้อกับโลกธรรม
นับว่าแปลกมากที่ท่านทำเหมือนรู้ว่าใครจะแอบนินทาเป็นไม่ได้
โปรดสังเกตุตรงบาทสี่ “จำไว้เถิดรู้เล่นล้อกับโลกธรรม” นับว่าลึกซึ้งมาก
โลกธรรมทั้ง 8 ซึ่งก็คือ มีสรรเสริญ ย่อมมีนินทารวมอยู่ด้วย
ต่อจากนั้นท่านก็เขียนกลอนให้ผมอีกเป็นครั้งที่ 2 กลอนนั้นมี 2 บทดังนี้
อำ นวยชัยให้ประสบพบวิถี
พล กำลังจงมากมีอย่าเฉไฉ
ศิษย์ ตระหนักชัดแจ้งเห็นแทงใจ
ข้า จี้กงบ้าใบ้ใช่แท้จริง
เริง รื่นไปกับความไม่เที่ยง
ร่า อารมณ์เป็นแต่เพียงเล่นสุงสิง
ใน วิถีสู่ความเห็นแจ้งจริง
ธรรม ทุกสิ่งไม่เที่ยงแท้แค่ผ่านเลย
ถึงตรงนี้ผมเข้าใจในทันใดว่า ท่านอาจารย์จี้กงท่านรับผมเป็นศิษย์ หรือจะเห็นผมเป็นศิษย์อยู่แล้วนั่นเอง จึงเมตตากรุณาให้ข้อคิดทางธรรมไว้พอประมาณ
จะว่าไปแล้วผมชักอยากแต่งกลอนซะแล้วซี
มีครูเป็นอาจารย์กลอนขนาดนี้ใครบ้างจะไม่อยากหัด
เมื่อจะทึกทักเอาตัวเองเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์จี้กง ก็จะต้องพูดถึงงานชิ้นหนึ่งที่ได้ทำเอาไว้นั่นคือ รูปเหมือนท่านอาจารย์จี้กง เนื้อผงลอยองค์ ขนาดแขวนสร้อยคอได้
เรื่องของเรื่องนั้น เกิดจากคุณธำรงได้ว่าจ้างให้ผมทำขึ้นเป็นจำนวน 60 องค์ ด้วยผงสำคัญที่ได้รวบรวมมาทั่วโลก โดยเฉพาะผงธูปจากเมืองจีนในวัดของท่านอาจารย์จี้กงเอง
ไหนๆก็ไหนๆจะขอโอกาสบันทึกเอาไว้เป็นพระอีกรุ่นที่หลวงปู่คำพันธ์ โฆษปัญโญ ได้อธิฐานจิตปลุกเสกไว้อีกรุ่น ที่ใช่แต่จะเป็นของน่าสนใจในหมู่ลูกศิษย์ผู้นิยมการสะสม ก็ยังเป็นของที่ทั้งคุณธำรงและผมภูมิใจอีกด้วย
รูปท่านอาจารย์จี้กงนี้สร้างและเสกตั้งแต่ราวๆปี2540คงจะกลายเป็นของหายากไปแล้ว
เมื่อได้พูดถึงรูปเหมือนท่านอาจารย์จี้กงแล้วก็รู้สึกเหมือนตัวเองหมดภาระ โล่งใจเบาตัวบอกไม่ถก
ตบท้ายด้วยบทกลอนอำลาของท่านอาจารย์จี้กงสักบท เผื่อเอาไว้คราวหน้า จะได้กลับมาคุยเรื่องของท่านกันอีก
เต๋า คือทางย่ำย่างหว่างวิถี
จี้ มนุษย์ให้ทำดีมีกุศล
ไป สู่ทางสงบเย็นเห็นกมล
แล้ว จะพ้นวงวัฏฏ์ไปไม่กลับมา
……………………………………………………………………..
…….งานเขียนของอาอำพล เจน
……..จากหนังสือศักดิ์สิทธิ์ฉบับที่ 532 วันที่ 1 มีนาคม 2548