อาจารย์ปู่ คำผุก อุนาภาค_10

คุณพัทพล วิชิตพันธ์
ลูกหลานบ้านท่าสว่าง
ได้กรุณาเล่าเรื่องจารย์ปู่คำผุกไว้ ๒ เรื่อง

เรื่องแรกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับ คุณตาคำอาจ วิชิตพันธ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานชายของจารย์ปู่คำผุก
คุณพัทพลบอกว่าฟังเรื่องนี้จากคุณแม่นวลจันทร์ วิชิตพันธ์ (คาดว่าเป็นบุตรีของคุณตา)

เรื่องมีอยู่ว่า
คุณตาคำอาจ นอกจากจะเป็นหลานแล้วยังเป็นศิษย์ที่เรียนวิชาจากจารย์ปู่คำพุกด้วย
คืนวันหนึ่งในวัยหนุ่ม คุณตาคำอาจไปจีบสาวที่หมู่บ้านหนองไฮ
ระหว่างที่เดินทางกลับ ซึ่งจะต้องผ่านปากทางเข้าป่าช้าบ้านท่าสว่าง

ตรงนั้นมีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง

ท่านได้ยินเสียงคล้ายมีวัตถุขนาดใหญ่ตกลงมาจากที่สูงกระทบพื้น
ได้ยินครั้งแรกท่านไม่หันกลับไปมอง แค่หยุดฟัง

ครั้นจะออกเดินต่อ ก็ได้ยินเสียงวัตถุขนาดใหญ่ ตกลงมาจากที่สูงกระทบพื้นอีกครั้ง

คุณตาคำอาจ เดินย้อนกลับไปที่ตำแหน่งที่แน่ใจว่าเป็นแหล่งกำเนิดเสียง
ตรงนั้นเป็นต้นไม้ใหญ่ มีกอหญ้าคาเกิดอยู่ พอเดินเข้าไปใกล้ๆ ท่านเห็นอะไรสักอย่าง ลักษณะคล้ายคน ตัวดำใหญ่ โผล่ขึ้นมาจากกอหญ้าคา แล้วปีนกลับขึ้นไปบนต้นไม้ใหญ่อย่างรวดเร็ว

คุณตาคำอาจโกรธมาก

ท่านเด็ดเอาหญ้าคามา 3 เส้น มัดรอบโคนไม้ต้นนั้น
มัดแล้วแล้วก็เดินทางกลับบ้าน

ครั้นเวลาล่วงผ่านไปสามวัน

จารย์ปู่คำพุก ให้คนมาตาม คุณตาอาจไปพบ

พอเจอหน้าคุณตาคำอาจ จารย์ปู่คำผุกก็เอ็ดตะโรลั่น

“อาจ..3 วันก่อน เอ็งไปทำอะไรไว้ ……รู้ไหมว่าเขาลงจากต้นไม้ไม่ได้ เขาร้องให้มา 3 วันแล้ว ไปทำแบบนั้นทำไม ไปแกะออกเลยนะ ..หาเฮ็ดไปทั่วทีปแท้น้อ..”
เฮ็ดทั่วทีป คือ ทำสิ่งที่ไม่ควร ทำสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่คิดหน้าคิดหลัง

คุณตาคำอาจไม่ได้บอกใครหรือเล่าให้ใครฟัง
แต่จารย์ปู่คำพุกรู้
รู้ได้ถี่ถ้วนว่าผู้ที่ถูกคุณตาคำอาจกลั่นแกล้งนั้น กำลังได้รับทุกขเวทนายิ่งนัก

นั่นก็ด้วยวิชาอาคม ที่ร่ำเรียนไปจากจารย์ปู่คำผุก

———————

เรื่องนี้ต้องถือเป็นรูปแบบ,เป็นวิธีการปรากฏตัวของผีในภาคอีสาน
เรียกว่าเป็นมาตรฐานการแสดงตนหรือการหลอกคนของผีอีสาน

สมัยผมยังเด็ก เรียนชั้นประถม ตกมืดค่ำชอบรวมกลุ่มเพื่อนรุ่นเดียวกัน ไปเล่นซ่อนหาแถวป่าหลังบ้าน

ขณะกำลังเข้าซ่อนตัวแถวๆโคนไม้ต้นหนึ่ง
เห็นก้อนอะไรไม่ทราบ ดำๆ กลมๆ หล่นจากต้นไม้กระแทกพื้นดังตูม
จากนั้นก้อนดำก็ลุกขึ้นยืน กลายเป็นรูปคนตัวดำๆทะมึน
ทั้งผมทั้งเพื่อนทุกคนเห็นเหมือนกันหมด

ต่างคนต่างเผ่นกันป่าราบแบบไม่ต้องนัดหมาย

จำได้ว่ากลัวขี้หดตดหาย สั่นอยู่เป็นชั่วโมง

เมื่อได้ยินเรื่องเล่านี้แล้ว
ผมปักใจเชื่อว่าจริงครับ
เพราะเคยประสบกับตนเองมาก่อน

อาจารย์เวทย์วิจารณ์ถึงผีชนิดนี้ว่า เป็นวิญญาณที่ยังไม่มีที่ไป น่าสงสาร วิญญาณแบบนี้รอผู้มีบุญมาโปรดให้พ้นทุกข์

ดังที่เคยได้ยินได้ฟังจากประวัติครูบาอาจารย์ทั้งหลายนั่นแหละครับ

ข้อแปลกก็คือที่ได้ตั้งข้อสังเกตุไปแล้วว่า ผีเหล่านี้มักปรากฏตัวด้วยรูปแบบอย่างนี้ เหมือนๆกันหมดตลอดภาคอีสานสมัยก่อน

มิน่าเล่าถึงได้ร้องห่มร้องไห้จนกระทั่งจารย์ปู่คำผุกได้ยินkhumpuk02

คุณพัทพล วิชิตพันธ์ บอกว่าเรื่องนี้ฟังคุณยายมณฑาเล่าอีกที

…คุณยายเท้าความย้อนไปถึงยุคที่ก่อตั้งบ้านสว่างใหม่ๆ
สมัยนั้นอาณาบริเวณที่นาของลูกหลานจารย์ปู่คำพุกในปัจจุบัน
เดิมมีผีหลวงปกครองอยู่นามว่า ผีหลวงไก่โจม

ก่อนจารย์ปู่คำผุกจะเข้ามาอยู่ที่นี่
ไม่ว่าใครก็ตามเข้าไปจับจองพื้นที่ในแถวนั้นต้องมีอันเป็นไป

อย่างเช่นชาวบ้านนาบอน พากันมาซื้อที่ดินตรงนั้น ก็มีอันต้องได้รับภัยพิบัติต่างๆนานา
บางรายเจ็บไข้ได้ป่วยจน บางรายก็ถึงกับล้มหายตายจาก กระทั่งไม่มีใครกล้ายุ่งกับพื้นที่แถบนั้นอีก

เมื่อจารย์ปู่คำพุกเข้าไปจับจองพื้นที่
เกิดการต่อสู้กับผีหลวงตนนี้ขึ้น
คุณยายมณฑาบอกว่าไม่รู้รายละเอียดว่าสู้กันแบบไหนอย่างไร
รู้แค่ว่าผีตนนั้นแพ้จารย์ปู่คำพุก

ผีหลวงแพ้จารย์ปู่คำพุก ยอมรับนับถือจารย์ปู่คำผุก
ผีหลวงไก่โจมจึงยอมย้ายถิ่น หนีขึ้นไปอยู่บนภูเกษตร

คุณยายมณฑาเล่าประสบการณ์ที่ได้พบพัวพันผีหลวงดังนี้

คุณยายมณฑาขณะยังเด็ก ได้นำเอาควายไปปล่อยเลี้ยงไว้ที่นา
คุณยายผูกควายแม่ไว้ใกล้กับ ตากล้า(กล้าข้าวอ่อน)
แต่ลูกของควายไม่ได้ผูก
มันเดินไปกินกล้าในนาจารย์ปู่คำผุก
คุณยายไม่รู้
มัวแต่หลับอยู่บนเถียงนา

ขณะที่หลับอยู่นั้น …คุณยายได้ยินเสียงผู้หญิงตะโกนเรียกปลุกให้ท่านตื่น

” มณฑาๆๆ ควายกินกล้า”

คุณยายลืมตาตื่นสลึมสลือ มองเห็นผู้ชายคนหนึ่งเดินตรงเข้ามาหา เอาฝ่ามือตบฝาเถียงนา

พร้อมกับเอ็ดคูณยายว่า

” นอนหยังกะด้อ ควายกินกล้าอยู่ทางพู่น ! ”
(นอนอะไรนักหนา ควายกินกล้าอยู่ทางนู้น)

ผีหลวงไก่โจมมาฟ้องจารย์ปู่คำผุกว่า

ลูกสาวของจารย์ปู่คำพุกออกมาเฝ้านา
มัวแต่นอนหลับ
จนควายกินกล้า
อีแปง(ลูกสาวผีหลวงไก่โจม) ปลุกยังไม่ยอมตื่น
อีแปงลูกสาวต้องมาบอกให้ผีหลวงไก่โจมซึ่งกำลังจะไปประชุมมาปลุกจึงตื่น

ภายหลังจารย์ปู่คำพุกถามเอาความกับคุณยายมณฑาตามที่ผีหลวงไก่โจมฟ้อง

คุณยายมณฑายอมรับว่าเป็นความจริง

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน