คุณยายชีนวล แสงทอง

เรื่องของ ยายชีนวล แสงทอง

วัดภูฆ้องคำ บ.ดงตาหวาน อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี

เขียนโดย อำพล เจน

โดยเขียนต่อเนื่องหลายตอนลงใน www.ampoljane.com ประมาณช่วงปลายปี พศ.๒๕๕๔

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงย้ายโฮสต์ใหม่ ข้อเขียนทั้งหมดค้นหายาก

บังเอิญค้นพบข้อเขียนทั้งหมดที่ http://www.dharma-gateway.com/ubasika/nuan/ubasika-nuan-hist-01.htm จึงคัดลอกกลับมาไว้ที่เว็บ ampoljane อีกครั้งหนึ่ง

ขอขอบคุณ www.dharma-gateway.com มาณ ที่นี้ด้วย

 

ผู้เขียน: อำพล เจน (ซ้ายสุด)

———–

บ่ฮู้..บ่จัก

เมื่อถูกซักถามเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครูบาอาจารย์รวมทั้งเรื่องที่ไม่ปรารถนาจะตอบ ยายชีนวลมักตัดบทว่า

“บ่ฮู้-บ่จัก”

เป็นถ้อยเป็นคำที่ออกจากปากยายชีบ่อยที่สุด

รูปศัพท์ง่ายๆ ตรงๆ ว่า = ไม่รู้จัก

แต่จะให้ตรงจริงๆ ในภาษากลางต้องแฝงดัดจริตคือ  ไม่รู้ไม่ชี้

เมื่อเป็นอีสานทั้งศัพท์สำเนียงความหมายและอารมณ์นั้นกลับจริงจังไม่ดัดจริต

เรื่องนี้วิจารณ์ได้เพียงผิวเผินว่า นั่นคือคุณลักษณะของนักปฏิบัติที่กำลังนำตนให้หลุดพ้นวัฏสงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด)

ยุติการยึดติดกับสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบันหรือนาคต ไม่ใยดีอาลัยในสังขารตน รวมไปถึงวัตถุสิ่งของภายนอกที่เป็นสมบัติของโลก

ดังนั้นเรื่องเล่าทั้งหมดที่เกี่ยวกับความเป็นยายชีจึงเกิดด้วยความยากลำบาก ไร้ข้อมูลที่ชัดเจน ขาดรายละเอียด ที่จะสร้างอรรถรสให้แก่ผู้อ่าน คงอาศัยจากคำบอกเล่าผู้ใกล้ชิด สานุศิษย์ ลูกหลานของยายชี ซึ่งก็เต็มไปด้วยความแผ่วเบา ขาดน้ำหนัก ด้วยว่าทุกคนล้วนอยู่ในภาวะเดียวกัน ต้องเผชิญกับคำว่า

“บ่ฮู้..บ่จัก”

เสมือนมีดคมบั่นกระบวนการสนทนาจนขาดสะบั้นในทันที

                                    ชาติกำเนิด

เกิดวันศุกร์ ไม่ทราบวันที่และเดือน คงอาศัยเค้าจากปีเกิดหลวงปู่สวน วัดนาอุดม (๘ ก.ย. ๒๔๕๓) ด้วยว่าทั้งหลวงปู่สวนและยายชีเกิดปีเดียวกัน ยายชีเป็นน้องแค่เดือน

เป็นลูกสาวคนโตของนายส่วน แสงทอง กับนางปี๋ ผลทวี, เป็นพี่สาวของน้องหญิงน้องชายอีก ๑๐ คน ซึ่งเสียชีวิตเกือบทั้งหมด ยังคงมีชีวิตอยู่เพียงสองท่านคือยายคำ แสงทอง กับ ป้าอนันต์ แสงทอง

เป็นศิษย์สำเร็จลุน แห่ง จำปาศักดิ์จริงหรือ?

เท่าที่ได้เคยสัมผัสและสังเกตเห็นมาโดยตลอด บรรดาผู้ที่เป็นศิษย์สำเร็จลุนอย่างแท้จริง มักไม่นิยมกล่าวถึงครูบาอาจารย์ แม้แต่อวดอ้างเอ่ยชื่อก็ไม่ทำ ทุกคนดำรงตนอย่างเงียบเชียบอยู่ในที่กันดารที่คนเข้าถึงลำบาก โดดเดี่ยวลำพังอย่างนักปฏิบัติพันธ์แท้ ไม่คลุกคลีหมู่คณะ ไม่สะสมวัตถุสมบัติ ไม่ติดอยู่กับที่ ไร้ร่องรอย ไร้เรื่องราว

ถ้าจะมีเรื่องราวปรากฏมักเป็นคำกล่าวขวัญขานถึงอย่างพิสดารโดยมีพื้นฐานจากความเคารพนับถือ ทำให้เกิดภาคอภินิหารใหญ่โตในภายหลัง ส่วนมากก็หลังจากบรรดาท่านเหล่านั้นละสังขารกันไปแล้ว

ชั้นหลังๆ ได้ยินเสียงอวดอ้างเอ่ยนามสำเร็จลุนบ่อยๆ ทำนองว่าเป็นศิษย์สายเดียวกัน ป่าวประกาศให้รู้ทั่วไปโดยไม่กระดากใจว่าตนเป็นศิษย์สายนี้ บางรูปอ้างถึงกับว่าตนเป็นลูกศิษย์สายตรงที่ไม่ใช่แค่หลานศิษย์ ครั้นสอบสวนเอาความจริงล้วนโกหกทั้งเพ แค่ปีเกิดของศิษย์จอมปลอมก็ยังไม่ทันชีวิตองค์สำเร็จลุน ใยจึงไม่นึกละอายว่าตนกำลังอมคำโกหกคำโตไว้ในปากตลอดเวลา ยากจะเข้าใจว่าทำกันเช่นนั้นเพื่อผลประโยชน์อย่างใด

เคยถามยายชีด้วยตนเองว่าครูบาอาจารย์ของยายเป็นใคร

“บ่ฮู้-บ่จัก”

“ถ้าไม่มีใครเป็นอาจารย์ ก็เรียนเองรู้เอง”

“ไม่ใช่อย่างนั้น ครูบาอาจารย์นั้นมีแน่..แต่ยายบ่จำ”

บ่จำ=ไม่จำ, จำไม่ได้.

มีดคมอีกเล่มที่หั่นประวัติสำนักศึกษาและอาจารย์ท่าน

เรื่องนี้ทราบจากยายคำ แสงทองผู้เป็นน้องหญิงคนที่ ๔ ของยายชีว่า สมัยยายชียังเยาว์วัย ป่วยเป็นฝีที่คอ รักษาอย่างไรไม่หาย วันหนึ่งมีหมอธรรมมาชี้แนะว่า มีผู้เดียวที่จะรักษาได้ เป็นพระชื่อว่าครูบาลุน อยู่ภูมะโรง เมืองจำปาศักดิ์ อยากจะหายจงเร่งไปหา ด้วยว่าเวลานั้นท่านชราภาพมากแล้ว อย่านิ่งนอนใจ ช้าไปจะไม่ทันการ

จากตรงนี้นั่นเองจึงเป็นจุดหักเหของชีวิตเด็กหญิงคนหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้ดั้นด้นไปจนถึงภูมะโรง

ว่ากันขณะนั้นยายชีมีอายุได้ ๑๓ ปี บางเสียงว่า ๑๘ ปี

ถ้าจะวิเคราะห์เอาข้อเท็จจริงที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด ประมาณว่ายายชีตอนนั้นควรจะมีอายุระหว่าง ๙-๑๑ ขวบ

ดูที่ปีมรณภาพของสำเร็จลุนซึ่งมีบันทึกปรากฏชัดเจนคือปี ๒๔๖๔ (ปีระกา เดือน๑๑ เพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาใกล้รุ่ง) เอามาเป็นตัวตั้งแล้วเอาปีเกิดของยายชีคือ ๒๔๕๓ ลบไปก็จะได้ตัวเลข ๑๑ ปี

ในขณะที่เดินทางไปภูมะโรงนั้น บิดาของยายชีกำลังอยู่ในเพศสมณมาแล้ว ๖ พรรษา น่าเชื่อได้ว่าพระภิกษุส่วน (บิดายายชี) ควรเป็นผู้นำพายายชีไปด้วยตนเอง หรือไม่ก็อาศัยผู้รู้จักหนทางที่ไว้วางใจได้ฝากฝังยายชีให้เขาคนนั้นนำพาไป

ในการเดินทางไปภูมะโรงคราวโน้นเป็นไปได้ว่าน่าจะมีหลวงปู่สวน ฉนฺทโร วัดนาอุดมร่วมเดินทางไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากว่าเป็นคนบ้านเดียวกัน (บ้านนาทม ต.คำหว้า อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี)

เมื่อไปถึงภูมะโรงแล้ว ครูบาลุนได้บอกว่าโรคของยายชีจะหายได้ด้วยมโหสถขนานเดียว คือบวชชี รักษาศีลแปด ถือพรหมจรรย์ ซึ่งครูบาลุนได้เป็นผู้บวชให้

ยายชีนวลเมื่ออยู่รักษาตัวที่ภูมะโรง ก็เหมือนดังว่าหายสาบสูญ ด้วยไม่เคยมีข่าวส่งไปถึงครอบครัวแม้แต่น้อย

กระทั่งครูบาลุนมรณภาพแล้ว ข่าวคราวของยายชียังคงเงียบหายไปอีกหลายปี จนวันหนึ่งข่าวว่ายายชีถูกงูเหลือมกินก็มาถึงบ้านเกิด ทุกคนที่ทราบข่าวล้วนสลดใจสงสาร พากันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตามประเพณี

 

ครูบาลุนเป็นใคร?

ข้อสงสัยที่หวังให้มีผู้คลี่คลายคือ ครูบาลุน กับ สำเร็จลุน เป็นคนเดียวกันหรือไม่

คาดคั้นเอาความจริงกับยายชี

คำตอบเก่าๆ

“บ่ฮู้..บ่จัก”

คงมีเพียงพระภิกษุผู้เฒ่ารูปเดียวที่กล่าวรับรองว่ายายชีเป็นศิษย์สำนักครูบาอาจารย์เดียวกันคือสำเร็จลุน

ภิกษุผู้เฒ่ารูปนี้มีชื่อลือนามว่าหลวงปู่สวน ฉนฺทโร วัดนาอุดม อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี

คำตอบที่ชัดเจนเพื่อคลายปมกังขาจึงมาอยู่ที่นี่ อยู่ที่หลวงปู่สวน

น่าแปลกใจอย่างยิ่ง หลวงปู่สวนออกจะให้ความเกรงใจยายชีนวลเป็นพิเศษ

อาจด้วยเหตุว่า ยายชีนวลนั้นสนิทสนมคบหาสำเร็จตัน ถึงขั้นเรียกหากันว่า “เสี่ยว”

สำเร็จตันผู้คงด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ อันบรรดาศิษย์อาจารย์เดียวกันยกย่องนับถือ

เป็นข้อวัตรของสำเร็จลุนหรือไม่

มองไปที่ หลวงปู่หนุ่ย ปภากโร

ศิษย์สำเร็จลุนรุ่นราวคราวเดียวกันกับ ปู่ผ้าขาวครุฑ (อาจารย์ของหลวงปู่คำพันธ์)

ก็เป็นภิกษุสันโดษและโดดเดี่ยวลำพังคนเดียวในป่าดงดิบบนเขาที่เรียกว่าภูพริก (เขต อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลฯ) องค์ท่านดำรงชีพอยู่อย่างเงียบเชียบปราศจากชื่อเสียง ไม่เคยอวดอ้างเอ่ยชื่อครูบาอาจารย์ ถ้าถามจะได้ความเงียบเป็นคำตอบ

เมื่อหลวงปู่หนุ่ยมรณภาพแล้ว หลวงปู่คำพันธ์ได้เดินทางมานมัสการธาตุอัฐิขององค์ท่านเป็นการส่วนตัว หลวงปู่คำพันธ์เรียกหาองค์ท่านว่าเป็นครูบาอาจารย์ผู้เฒ่า เสมือนปู่ผ้าขาวครุฑผู้ไร้ร่องรอยเช่นเดียวกัน

ร่องรอยเดียวที่ตามรอยได้คือ สถานที่บรรจุอัฐิของท่านทั้งสองที่ยังคงซ่อนอยู่ในป่า จะไปจะมาลำบากเอาเรื่อง ร่องรอยก่อนหน้านั้นมีอันได้สูญหายไปกับกาลเวลา

หลวงปู่บุญสี ปคุโณ วัดภูนางแก้ว บ.สองคอน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี มรณะไปแล้วราวๆ ๓๐ กว่าปี เป็นอีกองค์หนึ่งที่ดำรงชีพอยู่อย่างเงียบเชียบไม่กระโตกกระตาก ไม่เอ่ยอ้างตนว่าเป็นศิษย์สำเร็จลุน ไม่ยินดีกับการก่อสร้าง ไม่ออกเหรียญหรือวัตถุมงคลใดๆ สงเคราะห์ให้แก่สานุศิษย์เฉพาะรายเช่นทำตะกรุดให้เท่านั้น

ทุกรูปทุกนามที่เป็นศิษย์แท้ของสำเร็จลุน มักไม่ไคร่อยู่สถานที่ใดนานเกินควร ธุดงค์ไปทั่ว จนกว่าจะแก่เฒ่าถึงขั้นยากลำบากในการเดินทาง จึงหยุดธุดงค์ สถานที่พำนักบั้นปลายล้วนไกลผู้คน ราวกับซ่อนตัวหลบหลีกหนีอะไรสักอย่าง

ยายชีนวลก็เช่นกัน เมื่อครูบาลุนมรณภาพและหมดภาระที่สำนักครูบาลุนแล้ว ยายชีในวัยรุ่นสาวกลับมีความองอาจกล้าหาญออกธุดงค์โดดเดี่ยวปานพระหนุ่มๆ สักรูป เดินออกจากจำปาศักดิ์ขึ้นเหนือทะลุเวียงจันทน์ ข้ามโขงมาฝั่งไทยที่เมืองหนองคาย เข้าอุดรธานี ย้อนมาสกลนคร ผ่านธาตุพนม สู่อำเภอเขมราฐ จนกระทั่งถึงบ้านเกิดบ้านนาทม

ในขณะที่กลับถึงบ้าน ยายชีสาวเต็มตัว อายุได้ ๒๐ กว่าปี เป็นการปรากฏตัวครั้งแรกหลังจากที่ทุกคนทำความเข้าใจมาตลอดเวลา ๑๐ กว่าปีว่ายายชีนวลเสียชีวิตไปนานแล้ว

ผู้ที่ประพฤติตนสันโดษเดียวดายเยี่ยงนี้ที่เป็นศิษย์สำเร็จลุนไม่ว่าหญิงว่าชาย ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ จะเรียกว่าถือข้อวัตรของสำนักหรือได้ไม่ เหตุใดจึงมีพฤติกรรมในการดำรงชีวิตโดดเดี่ยวเดียวดายเหมือนกันทุกคน

 

 

สึกออกจากการเป็นชี

พำนักอยู่บ้านเกิดไม่นาน ได้เพื่อนชีสาวอีก ๒ คือแม่ชีเที่ยง (ไม่ทราบนามสกุล)

กับแม่ชีอีกองค์หนึ่งไม่ทราบชื่อ ชวนกันออกธุดงค์ไปจนถึงภูสามส่วม เขตอำเภอเขมราฐ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอโพธิ์ไทร)

ชีทั้ง ๓ ปักกลดบำเพ็ญเพียรอยู่บนเขานั้นนานนับ ๑๐ วันจึงเกิดเหตุ

คืนวันที่ ๑๐ นั่นเอง เสือโคร่ง ๕-๖ ตัวเข้ามาหาชีทั้ง ๓ เสือตัวหนึ่งท่าทางเหมือนจ่าฝูง เข้าใกล้ยายชีนวลที่สุด มันลงนั่งจ้องหน้า ยกฝ่าเท้าข้างหนึ่งด้วยอาการเหมือนจะตะปบเหยื่อ ยายชีนวลก็เอื้อมฝ่ามืออกไปตบเบาๆ ที่หัวเสือจ่าฝูง เสือก็หยุดกึก แล้วหันหลังกลับออกไปจากบริเวณนั้นทั้งหมด

วันรุ่งขึ้นเพื่อนชีองค์หนึ่งเข้าใจว่าเป็นแม่ชีเที่ยง กลัวเสือที่ปรากฏตัวเมื่อคืนจนถึงกับล้มป่วย ต่อมาไม่นานก็เสียชีวิต

บิดาของยายชีนวลทราบข่าว ได้ติดตามเอาตัวยายชีกลับบ้านขอร้องให้สึก อ้างเหตุผลไม่มีใครช่วยทำนา ยายชีนวลจึงยอมสึก

(ต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า บิดาของยายชีมีภรรยา ๒ คน ภรรยาคนแรกมีลูกด้วยกันคนเดียวคือยายชี

ต่อมาบิดายายชีได้บวชเป็นพระอยู่หลายปีจึงสึกออกมามีภรรยาใหม่ กับภรรยาคนที่ ๒ นี้มีลูกด้วยกัน ๑๐ คน ขณะนั้นบิดามีครอบครัวใหม่แล้ว)

 

แต่งงานออกเรือน

หลังจากที่ได้สึกชีออกมาช่วยงานครอบครัวไม่นาน นายอาจ ผลทวี ได้มาติดพันชอบพอยายชี ออกปากขอแต่งงาน ยายชีไม่ขัดข้องแต่มีข้อแม้ที่ถือเป็นข้อตกลงว่า หากยายชีอยากจะไปวัด หรือไปปฏิบัติธรรมที่ไหน เมื่อไหร่ จะไปทันที ไม่ขออนุญาต ไม่บอกล่วงหน้า และอย่าได้ห้ามเสียให้ยาก นายอาจรับปากตกลง

ชีวิตหลังแต่งงานยายชีนวลยังประพฤติตนอยู่ในศีลในธรรม คือรักษาศีล ๕ บริสุทธิ์ตลอด

มีลูกทั้งหมด ๔ คน ชาย ๒ หญิง ๒

ลูกๆ ต่างรับรองว่าแม่ (ยายชี) ไม่เคยฆ่าสัตว์ แม้มดหรือยุงก็ละเว้นไม่ล่วงเกินชีวิตสัตว์เหล่านั้น

ระหว่างมีครอบครัวมีลูกมีเต้า ยายชีไปธุดงค์กับสำเร็จตันบ่อยๆ ออกปฏิบัติธรรมร่วมกัน ในป่าเขาและสถานที่กันดารน่ากลัวแทบทุกแห่ง เรียกว่าไม่เคยลืมความเป็นนักบวช

ความองอาจกล้าหาญของยายชีไม่ได้เป็นรองสำเร็จตัน

ดูแค่เพียงการอยู่ในสถานที่ต่างๆ รวมทั้งภูฆ้องคำตามลำพังคนเดียวก็นับว่าเป็นยิ่งกว่าคำรับรอง

                                                                                                       

                                                                                                        กลับสู่ผ้าขาวอีกครั้ง

ปี ๒๕๒๒ ขณะมีอายุได้ ๖๙ ปี ยายชีบอกกับนายอาจผู้เป็นสามี รวมทั้งลูกๆว่า

“จะออกบวชเป็นชีอีก อยากพ้นทุกข์ พ้นวัฏสงสาร”

แล้วออกจากบ้านหายสาบสูญไปอีก

ลูกหลานเล่าว่ายายชีเมื่ออกธุดงค์ ไม่เคยพกพาสมบัติเงินทองติดตัว มีแค่ย่ามใบเดียว กับผ้าขาวหุ้มตัวชุดเดียว ไม่มีแม้เอกสารหลักประจำตัว เรียกว่าไปตัวเปล่าจริงๆ

ราวๆ ปี ๒๕๒๖ จึงได้ข่าวว่ามีสถานที่ ๒ แห่งที่ยายชีปรากฏตัวไปมาบ่อยๆ คือระหว่างถ้ำค้อในเขต อ.โขงเจียมกับวัดดอนม่วง บ.ดอนรังกา อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี

พอดีกับนายอาจผู้เป็นสามีป่วยหนัก ลูกๆ ตามไปหาแล้วแจ้งอาการป่วยของนายอาจที่ถ้ำค้อ

แต่ยายชีบอกว่า

“แม่ไม่ใช่หมอ ถึงไปดูก็ช่วยให้หายป่วยไม่ได้”

ต่อมาไม่นานนายอาจ ผลทวีผู้สามีก็ถึงแก่กรรม

ผู้ไร้ร่องรอย

หลังจากนั้นยายชีก็หายสูญข่าวคราวไปอีก ไม่มีใครรู้ว่าไปไหน อยู่ที่ใด

นานๆ ก็โผล่มาเยี่ยมลูก นานๆ ก็หายตัวไป เป็นปกติ

การติดตามหาตัวยายชีเป็นไปได้ยาก เนื่องจากความไม่อยู่ติดที่ ไม่อยู่ที่ใดนานๆ

เรื่องนี้มีผู้รับฟังคำอธิบายจากยายชีและสังเกตเห็นข้อเท็จจริงอันนี้

ที่ใดมีคนเกลียดมากๆ ยายชีจะอยู่นานเป็นพิเศษ

ที่ใดคนรักนับถือมากๆ ยายชีจะออกจากที่นั่นไปโดยเร็ว

สถานที่ซึ่งมีคนเกลียด จะอยู่จนกระทั่งคลายทิฏฐิมานะของผู้คนได้สำเร็จ

เกลียดกลายเป็นรักและนับถือเมื่อไหร่ จะจากไปเมื่อนั้น

หลายแห่งที่ผู้คนร้องไห้อาลัย อ้อนวอนให้อยู่ต่อไป ยายชีก็จะบอกธรรม ๑ ข้อ

“อนิจจังไม่เที่ยง มีพบก็มีพราก”

ปี ๒๕๓๔ ยายชีนวลปรากฏตัวที่ วัดภูน้อย (บ.น้ำวุ้น ต.แก่งเค็ง อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี)

ซึ่งยายชีเคยมาร่วมสร้างเอาไว้กับพระอาจารย์หมุนพร้อมด้วยชาวบ้านญาติโยม

การย้อนกลับมาครั้งนี้ทำความสลดใจให้ยายชีเป็นอันมาก ด้วยวัดอยู่สภาพรกร้างเสื่อมโทรม เป็นเหตุให้เกิดสังเวชสงสารญาติโยมที่เขามีศรัทธาร่วมสร้างถวาย แต่กลับไม่มีพระเณรอยู่อาศัย ทั้งไม่มีใครดูแลรักษา จึงตัดสินใจพำนักอยู่ที่นั่นตามลำพังคนเดียว

ชาวบ้านเล่าว่ายายชีมาอยู่วัดภูน้อยสมัยแรกนั้น ไม่ค่อยมีใครได้เห็นตัว นานๆ จะเห็นลงจากเขามาบิณฑบาตที

เรื่องนี้ยายชีได้กรุณาอธิบายให้ฟังในภายหลังว่า

“สงสารชาวบ้าน ลำพังการหาอยู่หากินก็ลำบากพอ ไม่อยากรบกวนเขามากเกินไป ได้อาหารเขาแล้วก็เว้นเสียบ้าง หาเก็บใบไม้มาหั่นกินเอาพอบรรเทาหิว ก็พออยู่ได้หรอก”

(หั่นใบไม้กิน-ในความหมายของอีสาน บางคนว่าเสกใบไม้กิน)

เบื้องต้นพวกชาวบ้านต่างพากันสงสัยว่ายายชีรูปนี้มาอยู่ที่นี่คนเดียวได้อย่างไร ลูกเต้าอยู่ไหน เป็นผีเป็นปอบหรือไม่ ใยจึงมาหลบซ่อนตัวอยู่ในวัดร้างบนเขาเช่นนี้

นานไปชาวบ้านจึงเริ่มรู้จักและเข้าใจ

หลังจากนั้นข้าวปลาอาหารก็อุดมสมบูรณ์ ด้วยว่าผู้คนพากันหลั่งไหลเข้าไป

วัดร้างก็กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่งเพียงเวลาไม่นานปี

ทั้งพระทั้งโยมจากทางใกล้ทางไกล เดินทางมาร่วมบุญบูรณะวัด ทั้งปฏิบัติและสนทนาธรรมกับยายชีจนเป็นที่เลื่องลือ ต่างอัศจรรย์ใจในตัวยายชีที่เป็นหญิงชราปานนี้ยังมีวัตรปฏิบัติเคร่งครัดน่าเลื่อมใส ถึงกับว่ามีพระหลายรูปมาฝากตัวเป็นศิษย์

ซึ่งยายชีได้กราบเรียนตอบพระเหล่านั้นอย่างนอบน้อมถ่อมตนเสมอ

“สิบข้าน้อยฮู้ บ่ถ่ออาจารย์หลง”

หมายความว่า – ความรู้ที่ยายชีมีนั้นจะมากแค่ไหน ก็ไม่เท่าความรู้ที่ท่านอาจารย์หลง(ลืม)

 

 

ที่พักพิงสุดท้าย-ภูฆ้องคำ

ถึงปี ๒๕๓๙ วัดภูน้อยมีไฟฟ้าและน้ำใช้สะดวกดีแล้ว มีพระเณรอยู่ประจำ มีชาวบ้านศรัทธาค้ำจุนแน่นหนาแล้ว ยายชีนวลก็อำลาท่ามกลางความอาลัยของทุกคน

ยายชีนวลมุ่งหน้าสู่ภูฆ้องคำ บ.ดงตาหวาน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดภูน้อย

เพียงเป็นเขาคนละลูก หมู่บ้านคนละหมู่

ภูฆ้องคำเวลานั้นเป็นที่พักสงฆ์รกร้างเช่นเดียวกับภูน้อย มีกุฏิถูกไฟไหม้อยู่หลังเดียว ยังไม่มีศาลา ไม่มีห้องสุขา กันดาร แห้งแล้ง ไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้ ไม่มีแม้กระทั่งทางเข้าถึงโดยสะดวก อาศัยชาวบ้านช่วยกันเบิกทางให้ พอได้สัญจรไปมา

ในเบื้องแรกยายชีต้องปักกลดอาศัยอยู่ไปก่อน โดยมีชาวบ้านช่วยกันส่งข้าวน้ำให้พอประทังชีวิต

ไม่นานภูฆ้องคำก็ฟื้นคืนสภาพ ชาวบ้านดงตาหวานและจากทุกสารทิศ ทั้งทางใกล้ทางไกลต่างร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างศาลา๑หลัง กุฏิ ๖ หลัง ห้องน้ำห้องสุขา ๕ ห้อง ทั้งยังสร้างเจดีย์เล็กๆ บนยอดเขา รวมทั้งพระประธานองค์ใหญ่ไว้ด้วย

ยายชีนวลพำนักอยู่ภูฆ้องตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ตามลำพังคนเดียว ไม่มีพระเณรอยู่ประจำ ถ้ามีก็แค่อาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว สุดท้ายยังเป็นยายชีอยู่อย่างถาวร

ค่อนข้างแน่ใจว่าที่นี่คือสถานที่พักพิงสุดท้ายของยายชี

 

 

ยายชีผู้ทรงค่าควรแก่การเลื่อมใส

ยังมีท่านผู้หนึ่งซึ่งถือว่าใกล้ชิดและรู้ต้นปลายของยายชีในช่วงบั้นปลายชีวิตค่อนข้างดี ท่านผู้นี้ชื่อว่าประสิทธิ ไม่ทราบนามสกุล เป็นชาวบ้านดงตาหวานรุ่นเก่าได้กรุณาเล่าเรื่องทั้งหมดที่รู้เห็นและรับรองว่าเป็นความจริงทุกประการ

ปี ๒๕๓๘ คุณประสิทธิได้รู้จักยายชีนวลเป็นครั้งแรกโดยไม่ตั้งใจ

วันนั้นมีงานบุญทอดกฐินสามัคคีที่วัดภูน้อย คุณประสิทธิผู้เคยบวชและสนใจปฏิบัติธรรมมาก่อนจึงพอเข้าใจและรู้จักเรื่องพระเณรหรือเรื่องของนักปฏิบัติ ได้พิจารณาสังเกตดูพระเณรหรือใครต่อใครที่มาร่วมงานบุญจนเห็นยายชีแก่ๆองค์หนึ่งนั่งสำรวมเรียบร้อย ดูสงบ ทรงพลังน่าเลื่อมใส

เหตุที่สะดุดตาและใจก็ด้วยว่ายายชีองค์นี้ไม่รับอาหารเพล จึงเข้าไปสอบถาม ได้ความว่าท่านกินมื้อเดียว

หลังจากนั้นได้สนทนากับท่านจนเกิดความนิยมนับถือ ทำให้ได้ทราบว่ายายชีนี่เองที่เป็นหัวใจในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดภูน้อย สิ่งใดขัดสนกันดาร ยายชีเป็นกำลังสำคัญจัดหาสิ่งขาดแคลนจนมีครบสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำดื่ม น้ำใช้ กุฏิ ศาลา ห้องน้ำ ห้องสุขา ยายชีเป็นธุระจัดหาให้หมด เกิดความสะดวกสบายแก่ผู้อาศัยทุกคน

โดยส่วนตัวของยายชีนวลมีอารมณ์เป็นสมาธิตลอดเวลา ตกกลางคืนบำเพ็ญเพียรภาวนา พิจารณาธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าเราเขาล้วนร่วงโรยเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้

วันหนึ่งยายชีเล่าให้คุณประสิทธิฟังว่า เมื่อคืนเกิดนิมิตเห็นบุรุษผู้หนึ่งสรวมหมวกขี่ม้าหยุดตรงหน้า ยื่นกะลามะพร้าวใส่เกลือให้ กำชับว่าเก็บไว้ให้ดี นิมิตนี้มีความหมายอย่างไร ยายชีได้อธิบายว่านี่เป็นปริศนาธรรมที่เทวดามาส่งให้ มะพร้าวหมายถึงให้ “ฟ้าวเฮ็ดฟ้าวทำ” (รีบปฏิบัติ รีบทำ), เกลือหมายถึงความอดทนพากเพียรรักษาการประพฤติปฏิบัติให้มั่นคงดุจเกลือรักษาความเค็ม

ปกติยายชีเป็นผู้สม่ำเสมอในการบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่แล้ว พอนิมิตนี้ปรากฏ ท่านเร่งความเพียรเป็นทวี เกิดปิติสุข อิ่มเอิบอยู่กับผลของความเพียรอย่างบอกไม่ถูก

ต่อมาบุรุษเดิมมาปรากฏตัวในนิมิตอีก คราวนี้มอบใบตองแห้งห่อเกลือให้ ความหมายคือให้รักษาผลของการประพฤติปฏิบัติที่เกิดขึ้นแล้วไว้ต่อไป เหมือนใบตองรักษาเกลือเอาไว้ไม่ให้หกหล่นเรี่ยราดเสียหาย

ยายชีบอกว่าท่านได้เก็บปริศนาธรรมนี้ไว้สอนใจและเตือนใจท่านไว้ตลอด

ปี ๒๕๓๙ ยายชีออกจากภูน้อยมาอยู่ภูฆ้องคำ ที่นี่คุณประสิทธิเห็นแปลกว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธ์ ภูมิเทวดาเจ้าที่แรงกล้า ไม่เคยมีพระรูปไหนอยู่ได้เกินพรรษา ถ้าไม่เจ็บป่วยก็มักร้อนรนจนอยู่ไม่ได้ต้องหนีไป เป็นเหตุให้ภูน้อยเป็นวัดร้างตลอดมา

พื้นที่แถบนี้คือที่ตั้งของหมู่บ้านเล็กๆชื่อบ้านดงตาหวาน อยู่กลางป่า กันดาร ความเป็นอยู่แสนยากลำบาก

ระยะแรกของการตั้งหมู่บ้านนี้ชาวบ้านประสพภาวะป่วยไข้ด้วยมาเลเรีย ล้มตายไปเยอะ ไกลโรงพยาบาล ไม่มีถนนหนทางสะดวกพอจะนำคนป่วยส่งหมอ เป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องพึ่งตนเอง ศึกษาหาความรู้ที่จะสู้กับมาเลเรีย คุณประสิทธิเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของการปราบมาเลเรีย

ดังนั้นคุณประสิทธิจึงไม่กังวลใจกับเรื่องมาเลเรียแม้แต่น้อย ใครป่วยไข้มาหา คุณประสิทธิรักษาได้หมด ทั้งฉีดทั้งกินยาไม่มีปัญหา

ประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าหากพระที่พำนักอยู่ภูฆ้องคำอาพาธด้วยมาเลเรีย ยาที่คุณประสิทธิเคยใช้รักษาชาวบ้านจนหาย กลับไม่สามารถรักษาพระในภูฆ้องคำได้ องค์แล้วองค์เล่าที่เข้ามาอยู่ที่นี่ คุณประสิทธิหมดหนทางรักษา

แปลกที่ว่าทุกองค์ที่อาพาธนั้นเมื่อออกจากภูฆ้องคำไปแล้วเป็นอันหายจากมาเลเรียทุกองค์ เหตุนี้จึงไม่มีพระรูปใดจำพรรษาที่นี่ได้ตลอดรอดฝั่ง

จนกระทั่งยายชีนวลมาถึง มาเลเรียก็เบาบางลงไป

ระหว่างที่ยายชีพำนักอยู่ที่ภูฆ้องคำ หากมีพระรูปใดมาขออยู่ด้วย แล้วตั้งใจประพฤติปฏิบัติ มีความเพียรในการภาวนาจะไม่อาพาธเจ็บป่วยเลย

คุณประสิทธิจึงเชื่อมั่นว่าภูฆ้องคำต้องเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่ง

 

 

ดับไฟป่า

คุณประสิทธิเล่าว่าทีแรกยังไม่ถึงกับเชื่อถือในคุณวิเศษว่ามีจริงในตัวยายชี แค่เลื่อมใสในความเป็นนักปฏิบัติ จนกระทั่งเกิดเหตุที่ทำให้ต้องเชื่อขึ้นมาในวันหนึ่ง

เรื่องนี้คุณประสิทธิให้คำรับรองว่าอยู่ในเหตุการณ์ได้รู้ได้เห็นด้วยตาตนเองเอง

ประมาณหน้าแล้งปี  ๒๕๔๑ เกิดไฟป่าไหม้จากนอกวัดภูฆ้องคำลามเข้ามาหากุฏิยายชีอย่างน่ากลัว รอบๆ วัดคือป่าต้นเลาและหญ้าคาแห้งบนพื้นที่กว้างสุดลูกหูลูกตา ไฟจึงลามไหม้อย่างรวดเร็วรุนแรง เกิดเปลวไฟสูง ๔-๕ เมตร ลมแรงโหมกระพือไฟเข้าใส่ คุณประสิทธิเชื่อว่าไฟนรกคงเหมือนไฟป่าหนนี้ มีทั้งเสียงลม เสียงฮือๆ ครืนของไฟที่เกิดมาไม่เคยพบเห็นว่ามันจะน่ากลัวขนาดนี้

ลูกศิษย์ ๒ คนที่เป็นชาวบ้านแถวนั้นวิ่งเข้ามาวัดเพื่อจะช่วยขนข้าวของออกจากกุฏิยายชีหนีให้พ้นไฟ

ยายชีบอกว่า

“ไม่ต้องขน, ไฟมันรู้จักว่าถ้าไหม้กุฏิ เราจะไม่มีที่อยู่, ไฟจะไม่ไหม้กุฏิเรา”

ยายชีบอกให้ลูกศิษย์คนหนึ่งตักน้ำใส่ครุถังเอาไปวางขวางไฟไว้ ประมาณว่าห่างจากกุฏิ ๓ เมตร

ไฟที่เหมือนไฟนรกมอดดับลงอย่างรวดเร็ว

 

 

คำสอนง่าย

ส่วนใหญ่ญาติโยมสานุศิษย์ที่เดินทางมาขอข้อธรรมเพื่อนำไปปฏิบัติมักกล่าวตรงกันว่ายายชีเน้นศีล ๕ เป็นหลัก

“การปฏิบัติธรรม การรักษาศีล ผู้อื่นทำแทนไม่ได้ ต้องทำเอาเอง แค่ศีล ๕ ก็พอเพียงสำหรับคฤหัสถ์ ให้รักษาไว้กับตัวกับใจ ทำอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาทำที่นี่ ศีล ๕ นั้นประเสริฐสุด”

บางครั้งก็อบรมว่า

“ถ้าเราปฏิบัติหรือรักษาศีลไม่ได้ อย่ารับศีลเลย อย่าโกหกพระเลย”

เรื่องศีล ๕ เรารู้จักกันแล้วว่าเป็นศีลที่คฤหัสถ์ปฏิบัติได้ เป็นศีลที่ปิดประตูนรกอบายภูมิ

หลวงปู่ทองสาเคยบอกว่า

“เป็นคฤหัสถ์ก็บวชได้ รักษาศีล ๕ ตลอดชีวิตก็เหมือนบวช

ไม่ต้องอดอาหารมื้อเย็น มีผัวมีเมียได้ ครองบ้านครองเรือนได้เป็นปกติ

รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ มรรคผลนิพพานได้เหมือนกัน”

 

 

เหตุที่เจ็บป่วยแล้วไม่ไปหาหมอ

สมัยที่ยังธุดงค์ไปทั่ว หาตัวเจอยาก แต่ยายชีมักไปปรากฏตัวกับลูกสาวคนเล็กที่ จ.อำนาจเจริญ

ครั้งหนึ่งราวๆ ปี ๒๕๒๗ ยายชีถูกหนามตำเท้า อักเสบกลัดหนอง เจ็บปวดทรมานไม่ใช่เล่น ยายชีไปหาลูกสาวคนนี้เพื่อจะหายาบรรเทาทุกขเวทนา ลูกสาวเห็นว่าหนักหนาสาหัสเกินกว่าจะรักษากันเอง จำเป็นต้องถึงมือหมอ แต่จะทำอย่างไรดี ในเมื่อรู้อยู่แก่ใจว่าแม่ (ยายชี) ไม่ยอมหาหมอ จึงโกหกว่าจะพาไปซื้อยาที่ร้านยาในตัวเมือง

“ทำไมแม่ต้องไปด้วยล่ะ”

“ถ้าไม่ไปให้เขาเห็นแผล เขาจะจัดยาให้ถูกต้องได้ยังไง”

ยายชีจึงยอมไป

พอไปเข้าจริงๆ กลายเป็นถึงมือหมอที่คลินิกไม่ใช่ร้านขายยา

ผลตรวจคือนอกจากจะอักเสบกลัดหนองแล้ว กระดูกเท้ายังแตกอีกด้วย ต้องผ่าตัดจึงหาย

ลูกสาวนำตัวยายชีไปโรงพยาบาลโดยไม่บอกให้ทราบว่าจะไปไหน ถึงโรงพยาบาลก็ส่งตัวยายชีให้หมออย่างรวดเร็ว

เรียกว่ามัดมือชก หรือผีถึงป่าช้าต้องฝัง

ยายชีแม้ไม่ยอมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

หลังจากหายเป็นปกติแล้วยายชีได้บอกว่า

“ความเจ็บไข้ที่เกิดกับเรามันเนื่องมาแต่กรรม ไม่ว่าหมอหรือเราก็ต้องตายเหมือนกัน”

 

 

งูกัดก็ต้องภาวนาตาย

เมื่อปีที่แล้วยายชีถูกงูเห่ากัด

ก่อนถูกงูเห่ากัด ฝันว่าพระพุทธรูปองค์ใหญ่ลอยมา พอรุ่งขึ้นก็ทำกิจวัตรตามปกติ หุงหาอาหารกินเอง ถ้าแข็งแรงดีอยู่จะไม่ยอมให้ใครทำอาหาร จะต้องทำเองกินเอง ยายชีกินเนื้อสัตว์เพียงแต่น้อย ถ้าใส่หมูก็เรียกว่าใส่วิญญาณหมู เน้นผักเป็นส่วนใหญ่

หลังกินอาหารแล้วนั่งพักผ่อนอยู่ รู้สึกเจ็บแปลบที่เท้า เห็นงูเห่าอยู่ใกล้ๆ แล้วก็ค่อยๆ หมดสติไป เมื่อฟื้นขึ้นมาก็เข้ากุฏิปิดประตูเงียบไม่ออกมาตลอดวันและคืน ไม่ยอมให้ใครพาไปหาหมอ คงตั้งใจภาวนาตายอย่างนักปฏิบัติ

เช้าวันรุ่งขึ้นยายชีก็ไม่ตาย หนำซ้ำแข็งแรงกระปรี้กระเปร่า เดินเหินคล่องแคล่วเป็นพิเศษ

ภายหลังยายชีได้บอกว่า งูที่กัดนั้นไม่ใช่งู แต่เป็นพญากรรม

 

 

ประสบการณ์จริงของยายชีนวลกับพญานาคถ้ำแกลบ

เมื่อพูดถึงงูเห่ากัดยายชีทำให้นึกเรื่องพญานาคถ้ำแกลบ อยู่ในเขตอำเภอนิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร

เรื่องมีอยู่ว่ายายชีธุดงค์ผ่านไปแถวนั้น คะเนว่าอายุประมาณ ๑๖-๑๗ ปี คงเพิ่งออกจากภูมะโรงแล้วเดินทางมาเรื่อยๆ จนถึงที่นี่ ทราบว่ามีถ้ำชื่อแกลบ คนเขากลัวกันมาก ก็แสดงความประสงค์จะขึ้นไปปฏิบัติธรรมในถ้ำนั้น

มูลเหตุที่ชาวบ้านกลัวคือ มักมีคนเห็นงูยักษ์เลื้อยเข้าออกถ้ำแกลบบ่อยๆ จนไม่มีใครกล้าเข้าไปหาของป่าหรือเฉียดกรายเข้าใกล้บริเวณนั้น

เมื่อยายชี (สาว) ตั้งใจจะเข้าไป ก็พากันห้ามปราม แต่ไม่สำเร็จ ยายชียังยืนกรานจะไปเช่นเดิม ชาวบ้านก็ไม่มีใครกล้าไปส่ง แค่บอกทางให้ ต่อจากนั้นยายชีก็เดินเท้าเข้าไปด้วยตนเอง

หลังจากนั้นยายชีก็หายสูญไปนานนับเดือน ไม่เคยลงมาหมู่บ้านบิณฑบาต ชาวบ้านก็วิตกวิจารณ์กันว่าน่ากลัวยายชีนวลจะไม่รอด คงเสียชีวิตไปแล้ว

ในที่สุดชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้กล้ารวมตัวกันขึ้นมาประมาณ๑๐คน จะลองขึ้นภูเขาเข้าไปที่ถ้ำแกลบเพื่อดูว่ายายชี (สาว) เป็นตายร้ายดีประการใด

เมื่อไปถึงทุกคนตกตลึงกับภาพที่เห็นแต่ไกล

งูมีหงอนสีแดงลำตัวสีขาวขนาดใหญ่รัดรอบตัวยายชีจนมิด

เห็นแค่ใบหน้าที่หลับตาพริ้มสงบ

ทุกคนเห็นเช่นนั้นก็เผ่นแน่บกลับลงมาหมู่บ้าน ป่าวประกาศไปว่ายายชีตายแล้ว ถูกงูยักษ์กิน

(เหตุการณ์นี้น่าจะเชื่อได้ว่าเป็นต้นเค้าของข่าวที่มีไปถึงบ้านเกิดของยายชีว่าถูกงูเหลือมกิน)

หลังจากนั้นไม่นาน ชาวบ้านก็ถึงตกตะลึงกันอีกครั้งเมื่อเห็นยายชีนวลลงจากเขามาปรากฏตัวในหมู่บ้าน

ยายชีได้บอกกับชาวบ้านว่า

“ไม่ต้องกลัวท่านพญานาคนั่นหรอก ท่านเป็นพญานาคมีศีล ขอเพียงให้ชาวบ้านที่เข้าไปหาของกินของอยากแถวถ้ำนั้นเอ่ยชื่อพญานาคคำขาว ทุกคนจะปลอดภัยไม่มีอันตราย “

ทุกวันนี้ชาวบ้านรุ่นเก่าที่ยังมีชีวิตอยู่ยังจดจำเหตุการณ์นี้ได้ และเล่าสืบต่อกันมาจนวันนี้

 

 

เท้าไม่ติดพื้น

แม้น ว่าภูฆ้องคำจะอยู่ไกล กันดาร แต่สานุศิษย์ ผู้เลื่อมใสศรัทธา ก็หลั่งไหลมาไม่ได้ขาด ทั้งทหาร ตำรวจ ชาวบ้านหรือแม้แต่พระเณร ต่างก็มาด้วยเชื่อมั่นในวัตรปฏิบัติของยายชีว่าควรค่าแก่การมาสักการะและ ปรึกษาข้อธรรม

พระอาจารย์หน่อย (ไม่ทราบชื่อ ฉายา) เจ้าอาวาสวัดบ้านยาง อ.ดอนมดแดง จ.อุบลฯ เล่าว่า เคยเห็นยายชีเดินจงกรมโดยที่เท้าไม่ติดพื้น

เกิดความอัศจรรย์ใจอย่างบอกไม่ถูก

มาเพื่อชดใช้หนี้

พูดถึงกำลังสำคัญในการพัฒนาวัด ต้องกล่าวถึงพระอาจารย์รูปหนึ่งซึ่งมาสู่ภูฆ้องคำยุคแรก

ท่านคือพระอาจารย์อ้อด (อริศร ปญฺโญ) ที่อยู่ๆ ก็มาปรากฏตัวที่วัดภูฆ้องคำโดยไม่มีผู้ใดรู้ล่วงหน้า

ท่านบอกแปลกๆ ว่าตั้งใจมาหายายชีเพื่อใช้หนี้

ท่านได้กรุณาเล่าว่า สมัยภูหินร่องกล้ายังรบราฆ่าฟันกัน ระหว่างรัฐบาลกับคอมมิวนิสต์ ท่านและพระอีก ๒ รูปธุดงค์ไปพำนักอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่งบนภูหินร่องกล้า เกิดการรบอยู่บริเวณถ้ำนั้นพอดี ต้องหลบซ่อนอยู่ในถ้ำหลายวัน อดอาหารและน้ำอยู่ ๙ วัน ออกจากถ้ำไม่ได้ มีเสียงระเบิด เสียงปืนดังอยู่ตลอดเวลา ควันจากอาวุธพวยพุ่งเข้าถ้ำจนหายใจแทบไม่ออก นึกว่าคงไม่รอดกันแล้ว

ในขณะที่ตาพร่ามัวด้วยควันเข้าตา เห็นยายชีลอยเข้ามาตามกลุ่มควันนั้นแล้วพูดว่า

“ข้าน้อยขอโอกาส..ถ้าหากจะออกจากถ้ำนี้โดยปลอดภัยขอให้พระอาจารย์ภาวนาคาถานี้”

ยายชีบอกคาถาแล้วก็หายไป

หลังจากท่องคาถาแล้วพวกท่านสามารถออกจากถ้ำ ผ่านดงปืนและระเบิดมาได้อย่างปลอดภัย

ภายหลังทราบว่ายายชีมาอยู่ที่ภูฆ้องคำ กำลังบุกเบิกสถานที่ เห็นเป็นโอกาสจะมาใช้หนี้ชีวิตจึงมาช่วยเป็นกำลังก่อสร้างให้

ยายชีเป็นกำลังเงิน ด้วยว่าเงินจากญาติโยมจะตรงมาที่ยาย

ท่านเป็นกำลังงาน ลงมือทำงานก่อสร้างอย่างเดียว

ยายชีไม่ถือเงินหรือเก็บเงิน เมื่อมีศรัทธามาถวายก็มอบเงินให้พระอาจารย์อ้อดเป็นผู้เก็บรักษา ไม่ว่าจะ ๑๐ บาท ๒๐ บาทก็ตาม พระอาจารย์ก็จะเก็บเงินรวบรวมไว้จนครบค่าวัสดุ เช่นครบค่าปูน  กระสอบก็ให้ชาวบ้านขี่มอเตอร์ไซค์ไปซื้อปูนมา

การก่อสร้างที่สำคัญที่ท่านลงแรงไว้คือบันไดขึ้นภูเขา ทำทีละขั้นไปเรื่อยๆ จนแล้วเสร็จ

กำลังจะทำฐานพระประธานบนเขาต่อ ยายชีก็มานิมนต์ให้พระอาจารย์อ้อดกลับไป

“ฐานพระประธานยังไม่เสร็จ องค์พระประธานยังไม่สร้างจะให้กลับทำไม”

“บ้านเมืองกำลังจะวุ่นวายเดือดร้อน อาจารย์กลับไปเถอะ ไปหาที่บำเพ็ญภาวนาตามป่าตามเขาช่วยบ้านเมือง”

“อาตมาเป็นพระผู้น้อย ไม่เก่งกล้าสามารถขนาดนั้น”

“ไปเถอะไปภาวนาช่วยกัน”

พระอาจารย์อ้อดเล่าว่า ยายชีวนเวียนนิมนต์ให้ท่านไปหลายรอบหลายครั้งจนในที่สุดท่านจึงรับนิมนต์เดินทางกลับนครพนม

เรื่องนี้น่าคิดไม่น้อย เมื่อวันที่ ๓๐ พ.ย.๕๑ ยายชีทำพิธีบังสุกุลประเทศ ทำให้ทุกคนทุกฝ่าย ไม่ว่าเหลืองหรือแดงหรือประชาชนทั่วไป ท่านว่าพิธีนี้จะช่วยบรรเทาความวุ่นวายบ้านเมืองได้ระดับหนึ่ง ผู้ที่ตายไปแล้วก็จะได้รับส่วนบุญส่วนกุศล ผู้ที่ยังไม่ตายก็จะปลอดภัยเป็นสุข ซึ่งในพิธีนี้ได้นำรายชื่อสมาชิกเว็บสวนขลังและเว็บอำพล เจนเข้ารับการสวดแผ่เมตตาเป็นกรณีพิเศษไปแล้ว ไม่ทราบว่าปรากฏผลอย่างไร

มีที่น่าสนใจอย่างยิ่งอย่างหนึ่ง ส่วนตัวของยายชีนั้น ท่านได้จดรายละเอียดของสัตว์ทุกชนิดที่ตายอยู่ในวัดตลอดมาจนถึงวันพิธี ไม่ว่าจะเป็นงู ตะขาบ กิ้งก่า มด ปลวก จิ้งจก หรือแม้แต่ไส้เดือน ท่านจดไว้หมด แล้วนำเข้าพิธีด้วย

 

 

มาเอาวิชากับคาถาอาคม

เท่าที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสยายชีในช่วงเวลาสั้นๆไม่กี่ปีมานี้ เห็นว่าผู้ที่มาหายายชีถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปมักมาพึ่งพาอาศัยขอให้ช่วยเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่เป็นเรื่องต้องใช้ศาสตร์วิชา ยายชีก็สงเคราะห์ให้เป็นรายๆ อีกส่วนหนึ่งมาเพื่ออยากได้วิชา ซึ่งส่วนนี้มักไม่ใช่นักปฏิบัติธรรม

แต่เป็นพวกที่หวังได้คาถาศักดิ์สิทธิ์ไปทำประโยชน์ตน ยายชีมักปฏิเสธไปว่า

“ข้อยบ่ฮู้ บ่จัก อีหยังสักอย่าง หนังสือก็ไม่ได้เรียน เรื่องนี้ถ้าบุญของพวกเจ้าเคยสร้าง มันจะมาเองรู้เองดอก”

เรื่องศาสตร์วิชาแปลกๆของยายชี เคยได้ยินผู้ใกล้ชิดยายชีเล่าว่า สมัยก่อนท่านมีวิชาหนูกับแมว ทำเป็นน้ำมันขึ้นมา เอาไปป้ายหนูกับแมวแล้วมันจะไม่กัดกัน ขังไว้ในกรงเดียวกันก็ไม่ทำร้ายกัน คงจะคล้ายๆ กับที่อาจารย์ชุม ไชยคีรีเคยทำไว้แต่ต้นเค้าวิชาไม่ทราบมาทางเดียวกันหรือเปล่า

เดี๋ยวนี้ยายชีเลิกไม่ทำอีกแล้ว เข้าใจว่าตั้งแต่รู้จักกราบไหว้หลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง เรื่องวิชาคาถาอาคมจึงเพลาๆ ลงไป หันมาตั้งใจปฏิบัติจิตทำเพียรภาวนาแทน

ถ้าเอ่ยชื่อหลวงพ่อชาให้ยายชีได้ยินเมื่อไหร่ ยกมือไหว้ท่วมหัวเมื่อนั้น ยึดถือว่าเป็นครูบาอาจารย์สำคัญอีกองค์หนึ่ง

ในส่วนที่เป็นของขลังเท่าที่เห็นยายชีทำแจกให้ญาติโยมนั้นเป็นรังไหม ข้าพเจ้าเคยได้รับและยังเก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี แต่ไม่ทราบว่ารังไหมนั้นมีคุณอย่างไร ด้วยไม่เคยถาม แว่วๆเป็นเลาๆว่าเอาไว้คุ้มตัว รักษาตน เหมือนตัวไหมมีรังเป็นเปลือกหุ้มคุ้มภัย

อีกอย่างหนึ่งที่ท่านชอบแจกให้ผู้ใกล้ชิด คือแป้งหอม และ น้ำอบไทย แล้วให้คาถาไปสวดภาวนากำกับ ข้าพเจ้าเคยได้รับแต่จำคาถาไม่ได้จึงไม่เคยใช้

แต่รับรองได้ว่ายายชีนี้ไม่ธรรมดา

เหมือนที่หลวงปู่คำพันธ์ได้อุทานขึ้นเมื่อเห็นยายชีครั้งแรกที่วัดธาตุมหาชัย นครพนม

“ยายชีนี่ไม่ธรรมดา วิชามีอยู่เต็มตัว”

 

ปัจจุบันกาล

ขณะนี้ (ธ.ค.๒๕๕๑) ยายชีนวลอายุได้ ๙๘ ปี สังขารเสื่อมโทรมตามกาลเวลา เรี่ยวแรงหดหายไปสิ้น จะลุกนั่งเดินเหินลำบาก ความป่วยไข้รุมเร้าอย่างแสนสาหัส

บางครั้งคล้ายหมดลมหายใจไป แต่ก็ยังกลับคืนมาหายใจได้

ยายชีบอกว่า

“นักปฏิบัติมักเป็นเช่นนี้ เรื่องของกรรมของแต่ละคน”

ยายชีนวลไม่เคยแสดงอาการหวั่นไหวอ่อนแอให้ผู้ใดเห็น ที่ได้เห็นกันคือความองอาจกล้าหาญ ไม่สร้างความหนักใจแก่ผู้ปรนนิบัติดูแล นั่งนอนยืนเดินอยู่ในองค์ภาวนาตลอดเวลา

นั่นคือการสอนศิษย์เทอมสุดท้าย สอนให้ทุกคนเห็นกับตาด้วยบทแห่งอนิจจัง

 

ของขลังล่าสุด

 

นอกจากพระกามเทพที่ข้าพเจ้าสร้างไว้เพียงจำนวนเล็กน้อยแล้ว ยายชีนวลไม่เคยมีเหรียญหรือรูปเหมือนใดๆ มาก่อน คงมีครั้งเดียวที่ศิษย์ผู้เลื่อมใสศรัทธาสร้างล้อคเก็ตรูปยายชีเป็นการส่วนตัว นำมาขอให้ยายชีอธิษฐานจิตให้ ยายชีก็เมตตาทำให้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ไม่มีของขลังที่เป็นเรื่องเป็นราวชัดเจน เมื่อเร็วๆ นี้คุณออด อยุธยาได้นำรูปลอยองค์ของนางตะเคียนมาฝากข้าพเจ้า นางตะเคียนนี้คุณออด อยุธยาเป็นผู้จัดสร้างขึ้นถวายวัดนางกุย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยว่าจ้างให้ข้าพเจ้าเป็นผู้แกะและกดพิมพ์จนแล้วเสร็จ และได้มอบนางตะเคียนชุดเดียวกันนี้ให้ข้าพเจ้าไว้เป็นที่ระลึกเป็นจำนวน ๔๐ องค์ ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นรูปผู้หญิงจึงนำไปขอให้ยายชีอธิษฐานจิตให้ แม้ป่วยหนัก ท่านก็ยังกรุณาทำให้อย่างเต็มใจ ท่านเอานางตะเคียนทั้งหมดหมกไว้ใต้แป้งหอม แล้วเอาเข้าห้องภายในกุฏิเอาไว้กับท่าน ๗ วัน

แต่พอถึงตอนส่งมอบนางตะเคียนกลับคืน ท่านกล่าวว่า “ของนี่เป็นของดีเป็นโชคเป็นลาภและเป็นเมตตา ยายทำให้เมื่อวันที่ ๑๔ ยายเชิญพระที่เมืองลาวมาช่วยทำพิธีอยากได้อะไรก็ให้ขอเอา” (อธิษฐานเอา) แปลกดีข้าพเจ้าไม่ใช่คนเล่นหวย แต่หวยงวดนี้ (๑๖ ธ.ค. ๕๑) ออก ๑๔ ตรงๆ ถูกกันเยอะ เว้นแต่ข้าพเจ้าผู้เดียวไม่ถูก ด้วยไม่ซื้อ แปลกอีกข้อคือ ท่านทำพิธีคนเดียว พระเมืองลาวรูปใดกันที่ท่านเชิญมา

หลังจากนั้นข้าพเจ้าได้นำเอานางตะเคียนทั้งหมดมาปั๊มพ์ตรายางเป็นตัวอักษรไทยคือตัว “น” เพิ่มเข้าไปที่ใต้ฐาน เพื่อว่าในอนาคตข้างหน้า หากพบเห็นที่ไหนจะได้รู้จักและเข้าใจว่าเป็นของยายชีนวลอธิษฐานจิตเอาไว้ ไม่สับสนกับของวัดนางกุย ที่เป็นเจ้าของนางตะเคียนที่แท้จริงข้าพเจ้าได้ปรึกษากับท่านอาจารย์เวทย์รวมทั้งขออนุญาตคุณออด อยุธยา ว่าเฉพาะนางตะเคียน ๔๐ องค์นี้จะนำมาให้ผู้สนใจศรัทธาบูชา เพื่อนำปัจจัยทั้งหมดไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลพยาบาลยายชีนวล ซึ่งข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะหาปัจจัยส่งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงที่สุด

ข้าพเจ้าไม่ขอรับรองว่า นางตะเคียนที่ยายชีนวลอธิษฐานจิต จะขลังและศักดิ์สิทธ์เปี่ยมอภินิหารประการใด แค่นึกว่าเป็นของตอบแทนปัจจัยที่ทุกท่านสละออกมาพยุงสังขารหญิงชราผู้เป็นนักปฏิบัติอย่างแท้จริงเท่านั้น ขอเชิญครับ

 

บั้นปลายชีวิต

ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ เป็นต้นมา ยายชีนวลสุขภาพไม่ดี ด้วยเหตุว่าชราภาพมากแล้ว

ลูกหลานจึงขอให้ย้ายออกจากวัดภูฆ้องคำ อ.กุดข้าวปุ้น มาอยู่วัดบ้านนาทม อ.ตาลสุม ซึ่งเป็นบ้านเกิด

ต่อมาลูกหลานเห็นว่าการดูแลปรนนิบัติยายชีที่พำนักอยู่วัดนั้น เป็นความยากลำบาก จึงขอให้ยายชีกลับมาพักที่บ้านลูกสาว

ยายชีก็อยู่ที่นั่นตลอดมา

ระหว่างต้นปี ๒๕๕๓ มาจนถึงเดือนกรกฎาคมปี ๒๕๕๔ ยายชีป่วยหนักเข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น

สุดท้ายก็พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นการถาวร

ค่ารักษาพยาบาลยายชีสูงมาก ลูกหลานไม่ได้เป็นคนร่ำรวย ยังหาเช้ากินค่ำกันทุกคน

แต่ก็ได้รับความอุปถัมภ์จากลูกศิษย์ลูกหาหลายฝ่าย ช่วยกันออกค่ารักษาพยาบาลตามกำลัง

ค่าใช้จ่ายที่หนักมากๆ คือการผ่าตัดบอลลูนหัวใจ เห็นบอกว่าหลักแสน ลูกหลานไม่มีปัญญาจ่าย

ทางโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ทั้งหมอและพยาบาลหลายท่านมีความนับถือยายชี จึงช่วยกันทุกวิถีทาง ออกความคิดว่าควรทำให้ถูกต้องตามกระบวนการรักษา ก็จะมีเจ้าภาพจ่ายแทนให้

ปัญหาอยู่ที่ยายชี เป็นบุคคลสาบสูญไปแล้วหลายสิบปี ทะเบียนราษฎร์แทงบัญชีว่าตายหายสูญไปนานแล้ว

การที่จะทำให้ยายชีกลับมาเป็นคนปกติยากมาก ทางอำเภอตาลสุมบอกว่าอาจใช้เวลาดำเนินการเรื่องนี้นานมาก

ต้องส่งเรื่องเข้ากระทรวงมหาดไทย อย่างเร็วก็ ๖ เดือน จึงจะรู้ผล ซึ่งไม่ทันการแน่นอน

เรื่องแปลกประหลาดก็เกิดขึ้น

หลานท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ทราบเรื่องนี้ จึงไปกราบเรียนท่านผู้ว่าฯ ขอความช่วยเหลือ

ท่านผู้ว่าฯ ตกลงดำเนินการเรื่องนี้ให้ด้วยตัวของท่านเอง

สำเร็จเสร็จสิ้นใน ๑ วัน

ทางอำเภอตาลสุมโทรฯ ตามญาติยายชีให้ไปรับหลักฐานทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ณ ที่ทำการอำเภอตาลสุม

นายอำเภอกับปลัดอำเภอรอมอบหลักฐานฯให้ด้วยตัวของทั้งสองท่านเอง รอจนถึงเวลาประมาณ ๑๙.๓๐ น.ไม่ได้กลับบ้านตามเวลาปกติ

เมื่อญาติไปถึง จึงถูกตัดพ้อว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะต้องถึงกับไปร้องเรียนท่านผู้ว่าฯ เลย

ฝ่ายญาติยายชีจึงอธิบายว่า ไม่ได้ร้องเรียนเลย อยู่ๆ ท่านผู้ว่าฯ กรุณาเดินเรื่องให้ยายชีเอง

เรื่องนี้แปลกตรงที่ท่านผู้ว่าฯ ก็ไม่เคยจะรู้จักยายชีมาก่อน

บุญที่ท่านผู้ว่าฯ กระทำให้ยายชีนวลในครั้งนี้ สมควรแก่การอนุโมทนาเป็นที่สุด

 

ทิ้งสังขาร

ช่วงกลางเดือนมิถุนายน ยายชีกลับเข้าโรงพยาบาลอีกเป็นครั้งสุดท้าย

อาการหนัก ต้องมีเครื่องมือช่วยพยุงสังขาร ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ตกวันละไม่น้อยกว่า ๑ หมื่นบาท

เคยหมดลมไปครั้งหนึ่ง หมอสามารถปั๊มหัวใจเอาชีวิตยายชีกลับคืนมาได้

ประมาณ ๑ เดือนในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ยายชีก็สิ้นลม

เมื่อเวลาประมาณตีสาม ของคืนวันที่ ๒๑ ก.ค. ๒๕๕๔

สาเหตุของการเสียชีวิตเกิดจากสังขารที่ชราภาพแล้ว อวัยวะภายในเสื่อมสภาพตามอายุใช้งาน

ตับ ไต หัวใจและปอด รวมทั้งระบบเลือดทั้งระบบเสียหาย

ประมาณอายุยายชี นับถึงวันสิ้นลมราวๆ ๑๐๖ ปี

ศพถูกนำไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านนาทม อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี เป็นเวลา ๓ วัน จึงทำการฌาปนกิจในเวลาบ่าย ๔ โมงเย็นของวันที่ ๒๔ ก.ค. ๒๕๕๔

เผาไม่ไหม้

พิธีเผาศพยายชีนวล ทำง่ายๆ แบบโบราณ คือเผากันกลางแจ้ง โดยมีผู้มาร่วมพิธีเผาศพเป็นจำนวนมาก

ทางวัดถึงกับออกปากว่า ไม่เคยจัดงานใหญ่แบบนี้มาก่อน

ในการฌาปนกิจครั้งนี้ ยายชีสั่งการไว้ก่อนตายหลายประการ แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามทุกอย่าง จึงเกิดปัญหามากมายกว่าจะเผาได้สำเร็จ

เห็นจะมีเพียงประการเดียวเท่านั้นที่ทางวัดดำเนินตามสั่ง นั่นคือระงับการวางดอกไม้จันทน์

ยายชีสั่งการเรื่องนี้ไว้ว่า

“ศพข้อยไม่ให้วางดอกไม้จันทน์ ให้วางไม้มุจลินท์ (ไม้จิก) แทน”

แต่เรื่องที่ยายชีสั่งไม่ให้มีการประดับแต่งเมรุนั้น ห้ามศรัทธาของเหล่าศิษย์ไม่ได้

ทางวัดจึงอนุโลมให้มีการประดับดอกไม้และคลุมผ้าขาวพอสมควร

ส่วนคำสั่งอื่นๆ ที่เรียกว่าสำคัญนั้น

มีผู้อวดดี อวดเก่ง อ้างตัวราวกับเป็นผู้วิเศษ เก่งกล้าสามารถ เข้ามาวุ่นวาย เจ้ากี้เจ้าการ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เรียกว่าไม่รู้แต่อวดรู้ ไม่เก่งแต่อวดเก่ง

จึงเป็นเหตุให้เกิดเรื่องอัศจรรย์

ศพยายชีเผาไม่ไหม้

ไฟลุกอยู่นาน ๒ ชั่วโมง ศพก็ยังอยู่สภาพเก่า

เอายางรถยนต์มาสุมใส่อีก ๕ เส้น

ยางรถยนต์ไหม้จนหมดสิ้นทุกเส้น

ศพยายชีก็ยังอยู่เหมือนเก่า

 

คำสั่งเสียก่อนมรณะ

ยายชีนวลขณะป่วยหนัก บางครั้งจำใครไม่ได้ แม้แต่ลูกหลานอยู่ปรนนิบัติทุกวัน

บางครั้งแจ่มใสจำได้ทุกอย่าง

ถือเป็นเรื่องปกติของคนแก่ที่กำลังป่วยในขั้นสุดท้าย

แต่องค์ภาวนาของยายชีมั่นคงดี

ไม่คลาดเคลื่อน

ยามสติแจ่มใสมักร้องขอให้ผู้ปรนนิบัติพาไปอยู่วัด ไม่อยากอยู่บ้านหรือโรงพยาบาล

ยามสติแจ่มใส รู้ว่าความตายจะมาถึงแล้วในไม่ช้าก็ออกปากสั่งเสียจนเรียบร้อย ไม่บกพร่อง

๑. เมื่อตาย จะตายวันไหนก็ช่าง ให้จุดไฟเผาวันนั้นเลย ไม่ต้องมีบำเพ็ญกุศลศพ เพราะว่าทำมามากพอแล้ว (คำสั่งข้อนี้เป็นไปในเชิงขอร้อง ยายชีบอกว่าตัวท่านเองไม่สามารถจะจุดไฟเผาศพตัวเองได้ ขอให้คนที่ยังอยู่จุดไฟเผาให้ด้วย)

๒. เมื่อไม่ต้องมีพิธีกรรมตามประเพณี คือบำเพ็ญกุศลศพ มันก็ง่าย โลงศพและเมรุไม่ต้องประดับตกแต่ง ให้เผากลางแจ้ง เพื่อให้ทุกคนเห็นถึงความไม่เที่ยงแห่งสังขาร ให้เห็นว่าซากสังขารไม่ใช่สิ่งสวยงามน่ายินดี ให้พากันเบื่อหน่าย ให้เกิดความสังเวชสังขารที่บางคนยังเห็นว่าสวยว่างามน่ายินดี ให้ศพของยายชีเป็นเครื่องมือช่วยให้คลายความยินดี ปลดพันธนาการแห่งกำหนัด จนเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายตนเอง

๓. อนุญาตแค่ ๓คนเท่านั้น ที่จะเป็นผู้จุดไฟเผาศพยายชี คือ คุณนก (หลานสาว), คุณแก๋ (หลานชาย) และคุณกบ (หลานชาย) หากไม่ใช่ ๓ คนนี้ เป็นคนอื่นจุดไฟ จะเผาศพยายชีไม่ไหม้

๔. ไม่ให้วางดอกไม้จันทน์ ให้วางไม้มุจลินทน์ (ไม้จิก) ที่เชิงตะกอน

ลูกหลานทุกคนที่รับฟังคำสั่งเสีย พร้อมที่จะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

แต่กลับไม่สามารถทำได้ ด้วยเหตุว่ามีผู้อวดรู้เจ้ากี้เจ้าการเข้ายุ่งเกี่ยว จนทำให้คำสั่งเสียถูกบิดเบือนไป

ท่านแรกมาจากไหนไม่ทราบ บอกว่ายายชีไปบอกตนทางกระแสจิต ว่าต้องทำที่วางศพเจ็ดชั้น เอาศพยายชีไว้ที่ชั้น ๗

โลงศพต้องเป็นโลงอย่างดี (แบบโลงพระสายกัมมัฏฐาน)

เรื่องนี้ลูกหลานไม่อาจทำได้ ด้วยว่าต้องใช้เงินมากโข

“ไม่ทำไม่ได้นะ ยายชีไปหาเรา สั่งกับเราให้มาบอกพวกท่าน”

“โลงแบบที่ว่าราคา ๒๘,๐๐๐ บาท กับที่วางศพ ๗ ชั้น ทำอย่างไร ไม่มีใครรู้จัก คงใช้เงินมาก”

“เรื่องเงินยายชีบอกว่าไม่มีปัญหา ขอให้ทำตามที่สั่ง”

“เงินจัดงานศพนี้ พวกเรามีเงินแค่ ๑๓,๐๐๐ บาท ถ้ายายชีไปบอกท่านจริง แสดงว่ายายชีต้องการให้ท่านเป็นคนทำ ท่านก็ไปหาเงินมาซี”

รายนี้ก็เผ่นหายไป ไม่กลับมาอีก

อีกรายก็เคยไปมาหาสู่ยายชีสมัยยังมีชีวิตอยู่ อวดอ้างว่าสื่อสารกับยายชีทางกระแสจิตทุกวัน ขณะยายชีป่วยอยู่โรงพยาบาล

จึงรู้ดีกว่าใครว่ายายชีต้องการให้ทำอย่างไร

ท่านผู้นี้ได้เข้ามาอยู่ที่งานศพตั้งแต่วันแรก เจ้ากี้เจ้าการเป็นธุระเหมือนจะวางตนเป็นแม่งาน ผู้รู้จักทุกเรื่อง รู้จักวิธีจัดการทุกอย่างกับศพยายชี

จึงได้คัดค้านต่อต้าน ไม่ยอมให้เผาศพยายชีในวันเดียว อ้างว่าผิดประเพณี อย่างน้อยควรตั้งศพไว้ ๗ วัน

ชาวบ้านทั้งหลายและผู้ที่พอจะเป็นที่นับหน้าถือตาแก่คนทั้งหลายต่างเห็นพ้องด้วย

ตกลงจึงให้บำเพ็ญกุศลศพยายชีแค่ ๓ วัน

ซึ่งก็ไม่เป็นที่ถูกใจแก่คนทั้งหมด แต่ต้องจำยอม ไม่งั้นเรื่องทะเลาะปะทะคารมกันจะมีต่อไปไม่จบ

ถึงตอนเผา ผู้ที่วางตนเป็นแม่งาน ก็เข้ามาคำเนินการทุกขั้นตอนของกระบวนการเผาด้วยตนเอง

กระทั่งธรรมเนียมใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพก็ให้งด อ้างว่ายายชีสั่งให้ใช้น้ำหอมหรือน้ำอบไทย

เรื่องน้ำมะพร้าวนั้น รู้จักกันดีแต่โบราณหรือแม้แต่ทางการแพทย์สมัยใหม่ รู้ว่าเป็นน้ำที่บริสุทธิ์สะอาด

แม้ในยามสงครามขาดแคลนน้ำเกลือ ยังสามารถใช้น้ำมะพร้าวแทนน้ำเกลือได้

ลูกหลานที่ล้วนแต่เป็นคนบ้านนอกต้อยต่ำ พูดไม่ออก ต้องนิ่งเงียบยอมให้เขาดำเนินการกันไป

เสมือนถูกกันออกมา ไม่ให้เข้าไปเกี่ยว ทั้งการออกความเห็นหรือลงมือปฏิบัติ

จนกระทั่งถึงเรื่องเผาศพ ที่ศพไม่ยอมไหม้ไปตามธรรมชาติ

ผู้อวดรู้อวดเก่งทั้งหลายก็ถึงกับออกอาการหมดปัญญา หมดท่า หมดน้ำยากันไปที่ละรายสองราย

ในที่สุดก็ยอมวางมือ หนีหายไปหมด

สุดท้ายจึงให้ลูกหลาน ๓ คน ที่ยายชีอนุญาต ได้เข้าไปทำพิธีจุดไฟ

โดยใช้เทียนไขคนละเล่มจุดไฟ อธิษฐานบอกยายชี แล้วโยนเทียนไขเข้าไปในกองฟอน

แปลกที่แค่เทียนไขเล่มเล็กๆ ไฟในกองฟอนกลับลุกโชติช่วงขึ้น ราวกับโดนสาดด้วยน้ำมันก๊าด

ศพยายชีจึงเริ่มไหม้ โดยเริ่มไหม้จากปลายเท้า ลามเข้ามาบั้นเอว

ส่วนเอวมาถึงศีรษะยังคงรูปลักษณะเดิม เหมือนจะต้านไฟ

แต่เมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่าเริ่มไหม้ไปด้วย แต่ไหม้อย่างช้าๆ นับว่าผิดปกติเหมือนกัน

 

 

เหตุอัศจรรย์ที่ต้องบันทึกไว้

๑. ไม่มีกลิ่นเนื้อหนังคนถูกไฟเผา (เรียกว่าไม่มีกลิ่นศพถูกเผา)

ข้าพเจ้านั่งอยู่ใต้ลม รับกลิ่นเต็มๆ มีเพียงกลิ่นควันไฟของไม้ถูกไฟเผา กลิ่นเนื้อหนังคนถูกเผาหายไปไหนหมด

แค่ย่างเนื้อแห้งกินที่บ้าน กลิ่นยังโชยไป ๒ บ้าน ๓ บ้าน

แต่นี่ไม่มีกลิ่นเลย ใช่แต่ข้าพเจ้าคนเดียวเท่านั้น ทุกคนในเวลานั้นรู้จักเรื่องนี้เหมือนกัน และเป็นพยานด้วยกันทั้งหมด

๒. แม้หมอน ๔ เหลี่ยมแบบอีสานที่ใช้หนุนศีรษะยายชีก็ยังไม่ไหม้ไฟ

หมอนยัดด้วยนุ่นจะต้านทานไฟได้อย่างไร หมอนใบนั้นคงสภาพเดิมอยู่คู่กับศพที่ต้านไฟของยายชีตลอดเวลา

หมอนเพิ่งจะเริ่มไหม้หลังจากหลานชายและหลานสาวยายชีเข้าไปทำพิธีจุดไฟ

ไหม้จากขอบนอกเข้าไป แต่ส่วนที่สัมผัส (รองรับ) ท้ายทอยยายชียังคงอยู่เป็นก้อน

จนกระทั่งถึงเวลาที่ศพยายชีเริ่มไหม้จนหมด หมอนใบนั้นจึงไหม้หมดตามไปด้วย

๓. ตลอดเวลาที่เผานั้น ศพยายชีไม่มีอาการหนังเนื้อแตกปริ คงสภาพผิวหนังเรียบๆ เอาไว้ ค่อยๆ แห้งไป และไหม้ไปอย่างช้าๆ

ไม่มีของเหลวจากภายในศพไหลทะลักออกมา ให้อุจาดตา แม้แต่หยดเดียว

๔. ศพอยู่ในอิริยาบถเดิมตั้งแต่เริ่มเผา จนจบกระบวนการเผา ศพไม่กระดุกกระดิก นิ่งอยู่ในท่าไหนก็ท่านั้น นิ่งสงบอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ต้นจนจบ

เรื่องไฟนี้จะว่าไปแล้ว สมัยยังยายชียังมีชีวิตอยู่ เคยมีผู้แอบเห็นว่า ยายชีหยิบก้อนถ่านไฟแดงๆ ด้วยมือเปล่า

บางคราวเกิดเหตุไฟที่ชาวบ้านจุดเผาหญ้าลามไหม้เข้ามาหากุฏิยายชี แทนที่จะหาน้ำมาดับไฟ ท่านเอามือเปล่ากวาดไฟทั้งแขน ไฟก็ดับ ไม่ลามเข้ามา

หลังจากศพไหม้ไฟแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการเก็บอัฐิ เกิดจลาจล ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ทั้งพระทั้งเณรและญาติโยมกรูกันเข้าแย่งกันเก็บอัฐิยายชีจนหมด

ลูกหลานเก็บไว้ได้เพียงส่วนหนึ่ง ส่วนที่เก็บไว้นี้ตั้งใจจะสร้างธาตุอัฐิทับบริเวณที่เผา แล้วเอาอัฐิส่วนนี้บรรจุไว้

นี่คือเรื่องของยายชีนวล แสงทอง ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีปรากฏให้เห็นในโลกปัจจุบัน

โลกที่วิทยาศาสตร์มีอิทธิพลเหนือไสยศาสตร์

——————————-

                        ประมวลภาพพิธีฌาปนกิจศพยายชีนวล แสงทอง

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน