เหรียญมั่น – เสาร์

ผมเคยคิดมานานแล้วว่าอยากจะเขียนถึงพระเครื่องของครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐาน ที่เรียกอีกอย่างว่าสายพระอาจารย์มั่นและพระอาจารย์เสาร์ แต่ปัญหาก็อยู่ตรงที่ผมไม่มีพระเครื่องครบทุกพระอาจารย์ และไม่แน่ใจว่าจะหาภาพลงได้ครบทุกองค์ จึงรี ๆ รอ ๆ หวังให้โอกาสเกิดมีขึ้นบ้างสักวัน

โอกาสที่หวังก็ไม่เคยมีขึ้นสักที

ได้แต่ปรึกษาคนโน้นคนนี้ซึ่งล้วนแต่แสดงการโหวตเป็นเสียงเดียว เป็นเสียงที่เห็นด้วยทั้งสิ้น หาเสียงที่เอามือซุกกระเป๋าไม่โหวตไม่มี

ทำไมผมจึงอยากจะเขียน

นั่นเป็นด้วยศรัทธาเชื่อมั่นในครูบาอาจารย์สายนี้เป็นเหตุใหญ่ แม้ว่าพระเครื่องของทุกท่านโดยมากไม่แพง ไม่ฮ้อทจนพองมือเซียนพระเครื่องทั้งหลายก็ตาม

แถมไม่มีประสบการณ์หวือหวาให้ฮือฮาทั้งบ้านทั้งเมือง

เรื่องไม่มีประสบการณ์นี้ผมได้ยินใครต่อใครพูดคำนี้บ่อยๆ ถ้าไม่มีประสบการณ์แล้วมืออาชีพไม่เล่น แม้จะเป็นพระเครื่องรุ่นเดียวกันพิธีเดียวกัน ก็ยังเลือกเล่นพิมพ์ที่เกิดอภินิหารสร้างประสบการณ์

อย่างที่ผมแขวะมาตลอดแหละครับ, พระเครื่องของเจ้าคุณนรฯ เป็นตัวอย่างที่ชัดดี, เสกในพิธีเสาร์ 5 ปี 2513 พร้อมกัน กลับมีทั้งที่แพงเป็นหมื่น ๆ กับถูกเป็นร้อย

คนก็แห่ไปเล่นของแพงเป็นบ้าเป็นหลังไป

ถ้าไม่ใช่ผู้เล่นพระเครื่องแบบ HOBBY แต่เล่นแบบเชื่อในพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ก็ต้องมีศรัทธามั่นใจว่าเป็นของท่านเสกเหมือนกัน เสกพร้อมกันอีกต่างหาก ไม่มีทางที่องค์ไหนจะศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าองค์ไหน แม้ว่าจะมีทางแพงกว่ากันก็ช่างเถิด

ถ้าท่านแขวนพระเครื่องด้วยความรู้สึกเหมือนสะสมเครื่องลายคราม เล่นไม้ดัด บอนไช หรือสะสมแสตมป์ ท่านต้องเล่นของแพงถ้าไม่ได้เล่นเพื่ออย่างนั้น แต่แขวนไว้ด้วยศรัทธาในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ท่านอย่าได้วอกแวกไปกับของแพงปล่อยให้มือฮ้อบบี้เขาเล่นกันไปเถอะ

เรื่องมีประสบการณ์และไม่มีประสบการณ์นั้น ผมว่ามันขึ้นอยู่กับสถานการณ์และกรรมเวรของแต่ละคน บางคนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยทั้งอาชีพและการดำรงชีพ โอกาสที่จะพบประสบการณ์มีน้อยมาก แต่บางคนอยู่ในสถานะที่ล่อแหลมทั้งอาชีพและการดำรงชีพ อย่างเช่น ตำรวจ ทหาร คนเดินทางบ่อย ๆ คนที่มีศัตรูจงเกลียดจงชังเยอะ คนทำงานในงานเสี่ยงอย่างนี้โอกาสเจอประสบการณ์ย่อมมีมากกว่า

และที่สำคัญยี่ง ผมเชื่อที่สุดว่า
“ไม่มีประสบการณ์นั่นแหละคือประสบการณ์”

หลวงปู่คำพันธ์เคยเตือนสติผมครั้งหนึ่ง ราวกับท่านล่วงรู้วาระจิตของผมในช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมหันมาสนใจของขลังประเภทหนังเหนียว ยิงไม่ออกเป็นเอก

ท่านมองหน้าผมแล้วบอกว่า
“แขวนพระเมตตาแคล้วคลาดดีกว่า ไปไหนสบายไม่มีเรื่อง พระมหาอุดคงกระพันมักมีแต่เรื่อง”

นั่นแหละครับ คำพูดอันวิเศษได้เตือนสัญญาเก่าให้ผุดขึ้น

สมัยหนึ่งผมลองแขวนเดี่ยวพระเครื่องที่ได้ชื่อว่าเหนียวสะบัดช่อ อย่าไปรู้เลยครับว่าของพระอาจารย์องค์ไหน
ผมเดินฆ่าเวลาคอยเวลานัดเพื่อนที่ตลาดคลองเตยซี่งมีคนมาเดินดูของกินของใช้ต่างประเท
ศมากมายไม่ต่างจตุจักร

จังหวะหนึ่งที่สาวสวยเบียดคนมากระแทกไหล่ผมอย่างจัง

เธอไม่ตั้งใจหรอกครับเพราะว่าคนมาก

แต่ผมโกรธจนนึกอยากจะกระโดดชกหน้าสาวสวยอนงค์นั้น

หัวใจกระทั้นกระทึกอยู่ตั้งอึดใจใหญ่ ๆ จึงสงบลงได้และนึกแปลกใจตนเองชมัด ปกติไม่เคยโกรธใครง่ายๆอย่างนี้มาก่อนโดยไม่มีเหตุผล
แถมสาวสวยอย่างนั้นผมไม่เคยรู้จักมาก่อน จะมีเหตุโกรธง่ายๆเป็นที่ไหน

ผมไม่อยากโทษพระหนังเหนียวให้เป็นเวรเป็นกรรมแก่ผมหรอกครับ แต่มันไม่มีเหตุอะไรที่จะให้ผมคิดเห็น

แต่ที่เป็นวัยรุ่นระเบิดขวดอยู่นั้น พรรคพวกนักวิทยาศาสตร์แขนงวัตถุระเบิดและกระทรวงฟันแทงจิ๊กโก๋ซอยอื่นพลัดหลงมา
ต่างมีครูบาอาจารย์สักยันต์ เสกตะกรุดและทำสาลิกาลิ้นทองทางเจ้าชู้พวกนั้นเมื่อได้ของใหม่มาก็ร้อนของอยากลอง

นั่งรถเมล์อยู่ด้วยกันดี ๆ กระโดดลงไปไล่ชกตีวัยรุ่นที่นั่งกินเหล้าข้างทางเสียเฉย ๆ

พอกลับมาแล้วก็บอกว่า
“หมั่นไส้มันหรอกว่ะ แม่งตีกูด้วยขวด นึกว่าแตกซะแล้ว”

ของอย่างนี้แหละครับที่มักทำให้มีแต่เรื่อง และเป็นของที่มักมีประสบการณ์ทางถูกยิงถูกฟันเป็นพิเศษ

แต่พระเครื่องของครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐาน โดยมากท่านอธิฐานพรในทางเมตตาแคล้วคลาดเป็นหลัก แขวนของพวกท่านแล้วไม่มีประสบการณ์เกิดขึ้นง่าย ๆ หรอกครับ
เรื่องนิดหน่อย ๆ เป็นหลุดพ้นหมด ที่หนักหนาสาหัสก็ผ่อนให้เบาลง ที่คิดว่าจะต้องถูกเขาด่าแน่ ๆ ก็ไม่ด่าแถมยิ้มแย้มแจ่มใสให้อีกหวามหนึ่ง

คุณพ่อประกอบ แพทยกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีเคยอธิบายถึงพระเมตตามหานิยมแก่ผมว่า
“ให้สังเกตดูคนที่เกลียดและคิดจะเล่นงานเรานั่นแหละพอพบหน้าเขาไม่ทำ”

นี่แหละครับพระเมตตาแคล้วคลาด

ไม่มีประสบการณ์คือประสบการณ์อย่างไม่ต้องสงสัย

อีกข้อหนึ่งที่ชวนคิดไม่น้อยนั่นคือ ครูบาอาจารย์สายนี้โดยมากท่านเน้นเรื่องการประพฤติปฏิบัติ ไม่ได้เน้นเรื่องวัตถุมงคล บางองค์ไม่ยอมให้มีการทำขึ้นมา แต่บางองค์ก็ทำเพราะเกรงใจขัดใจผู้ขอสร้างไม่ได้ อย่างเช่นหลวงปู่เทสก์ เทสน์รังสีท่านยอมให้ทำขึ้น แต่ไม่ยอมให้ทำรูปของท่าน คงมีแต่เพียงชื่อที่เรียกว่าลายมือลายเซ็นของท่านเท่านั้น บางองค์อนุโลมให้ทำตามศรัทธาเพื่อเอาไว้แจกสถานเดียว บางองค์ก็วางเฉยสุดแต่ผู้สร้างจะมีเจตนามีศรัทธาอย่างไร
ท่านไม่เกี่ยวข้องเรื่องจำหน่าย ไม่วุ่นกับเงินที่ได้จากจำหน่ายท่านเสกให้แล้วก็แล้วไป อย่างเช่นหลวงปู่แหวน

ผมเคยฟังท่านอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป เล่าเรื่องเสกพระของหลวงปู่แหวนว่า
“ถามหลวงปู่เหมือนกันว่าเสกพระอย่างไร หลวงปู่บอกว่าก็แผ่เมตตาว่าขอสัตว์โลกทั้งหลายจงอยู่เย็นเป็นสุข อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลยเท่านั้น”

ง่ายดีไหมครับ

นั่นแหละที่แขวนเข้าไปแล้วประสบการณ์เลยไม่ค่อยมี

ทั้งอยู่เย็นเป็นสุขทั้งไม่ต้องเบียดเบียนกัน

อีกข้อหนึ่งเท่าที่ได้สังเกตดูมาโดยตลอด เห็นว่าญาติโยมที่ทั้งสู้อุตส่าห์เดินทางไปกราบครูบาอาจารย์สายนี้เป็นครั้งคราว และโดยสม่ำเสมอ มักเป็นผู้ไปแสวงธรรมไปหาแนวทางและโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ไปเพื่อหวังวัตถุมงคล แต่ถ้าครูบาอาจารย์แจกให้ก็เก็บไว้ด้วยความเคารพอย่างแท้จริง ไม่รู้จักว่าเป็นของที่อาจซื้อขายได้ ไม่สนใจหรือเข้าใจในทางนี้ คงเก็บไว้หรือพกติดตัวด้วยความเคารพเป็นใหญ่ เพราะว่านั่นเป็นของที่ครูบาอาจารย์ที่ตนเองเลื่อมใสศรัทธามอบให้ แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติตามคำสอนของท่านต่อไป ไม่มีเรื่องวัตถุมงคลมานำจิตนำใจ

บางทีเกิดมีอันดังตูมตามขึ้นมาสักรุ่นหนึ่ง คนที่เล่นพระเครื่องในแบบนั้นก็สามารถไปจีบขอกับญาติโยมเหล่านี้ได้ง่าย ๆ โดยที่พวกท่านไม่รู้จัก,คงยินดีให้เพราะเห็นว่าเขาอยากได้เท่านั้น

มีเกิดขึ้นบ่อย ๆ

เพราะเหตุที่พระเครื่องของครูบาอาจารย์สายนี้ ถูกแจกไปอยู่ในคนที่มีทัศนคติทางธรรมเป็นหลัก พระเครื่องกี่รุ่น ๆ ก็เงียบหายไปโดยมากไม่ค่อยจะมีออกมาหมุนเวียนในตลาดซื้อขาย ที่มีออกมาก็มักจะเป็นรุ่นที่ทำออกมาเพื่อจำหน่ายหาทุนสร้างโน่นสร้างนี่ หรือทุนทำโน่นทำนี่สุดแต่เจตนาของผู้สร้าง

ท่านอาจารย์วัน เคยปรารภว่าสงสารหลวงปู่ฝั้นที่ต้องรับแขกโดยเสียเวลาเนิ่นนานเกินไป แขกส่วนหนึ่งนั้นมุ่งมาเพื่ออยากจะได้พระเครื่องของท่าน ก็มาคุยโน่นคุยนี่อ้อมไปอ้อมมาเป็นนานจนสุดท้ายก็เอ่ยปากขอ ซึ่งท่านก็ให้ เพราะว่าท่านให้อย่างเดียวไม่เคยขาย

หลวงปู่ฝั้นไม่เคยขายพระนะครับ แจกอย่างเดียว

ถ้าขอท่านแต่แรกท่านก็ให้เหมือนกัน และยังจะได้หมดเรื่องรับแขกเร็ว ๆ แล้วมีเวลาไปทำความเพียรของท่านต่อไป

ดังนั้นท่านอาจารย์วันจึงมักจะมอบวัตถุมงคลให้กับแขกที่มากราบเยี่ยมก่อน อยากได้หรือไม่อยากได้ก็แจกก่อนเรื่องอื่นค่อยว่ากัน

เพื่อนผมเป็นทหารเล่าว่า ยกกองร้อยไปกราบหลวงพ่อวัน จะไปเอาเหรียญของท่านเพื่อพกไปออกสนาม พอไปถึงท่านก็แจกเลย แจกแล้วก็ไม่รู้จะคุยอะไรกับท่าน เพราะว่ามาเพื่อจะเอาเหรียญ ในเมื่อได้แล้วธุระก็หมด จึงกราบลาทันที ท่านก็หงึกหน้าแล้วก็กลับไปนั่งภาวนาต่อ

ครูบาอาจารย์สายนี้โดยมากไม่ได้เน้นเรื่องวัตถุมงคลแต่อย่างใด ท่านมุ่งให้ผู้ศรัทธาท่านเดินหน้าเข้าสู่การประพฤติปฏิบัติมากกว่า ในเรื่องวัตถุมงคลท่านไม่เคยให้ใคร ๆ ยึดมั่นจนเกินไป

หลวงพ่อชาเคยกล่าวกับผู้ที่เคยไปขอพระเครื่องของท่านว่า
“เอาไปทำไม เอาไปกันตายหรือ แต่เราเองยังต้องตายเหมือนกัน” เสร็จแล้วก็ยื่นให้ “เอ้า,เอาไปก็ดีอยู่หรอก”

หลวงพ่อชาก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ไม่เคยขายพระ ท่านไม่อนุญาตให้มีการซื้อขาย และไม่ชอบการซื้อขาย

บางกระแสข่าวบอกว่า ที่ท่านเลิกและงดอนุญาตไม่ให้มีการทำพระเครื่องในขณะที่ท่านยังไม่อาพาธนั้น ก็เพราะมีลูกศิษย์ไปฟ้องท่านว่า มีการซื้อขายพระของท่านในสนามแล้ว ท่านถามว่าจริงรึและต่อมาก็เลิกเด็ดขาด พระเครื่องของท่านจึงมีน้อยรุ่นและไม่มาก แต่ละรุ่นสร้างแบบสมัครเล่น มีแค่ร้อยสองร้อยองค์
ที่มากที่สุดก็คือรุ่นสุดท้าย มีผู้สร้างมาถวายเป็นจำนวน 84,000 องค์

เกี่ยวกับครูบาอาจารย์สายศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถรนี้ โดยมากถ้ามีใครไปถามท่านว่าเคยสร้างพระเครื่องหรือไม่ พวกท่านมักตอบว่าไม่เคยสร้าง ซึ่งคำตอบเหล่านี้จะเกิดวิจิกิจฉาแก่ผู้ถามทุกครั้ง ในเมื่อไม่เคยสร้างแล้วทำไมจึงมีพระเครื่องของพวกท่านออกมา

ความจริงมีว่า ที่พวกท่านไม่เคยสร้างนั้นหมายความว่าไม่ได้แสดงเจตนา และลงมือเป็นธุระให้สร้างแต่อย่างใด พวกท่านอยู่เฉย ๆ ก็มีผู้สร้างอะไรต่อมิอะไรมาถวาย และขอให้ท่านปลุกเสกหรืออธิษฐานจิตให้ เสร็จแล้วก็ถวายท่านครึ่งหนึ่ง, ส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมดไว้ให้ท่านได้แจกแก่ญาติโยม บางทีก็มากราบขออนุญาตสร้าง ซึ่งท่านก็อนุโลมให้สร้างได้ แต่ทุกครั้งที่สร้างไม่ได้เกิดจากความปรารถนาอยากจะสร้างก่อนเลย ท่านปลุกเสกหรืออธิษฐานจิตให้โดยเมตตาสถานเดียว

บางทีอาจจะมีผู้สงสัยว่า “ปลุกเสก” กับ “อธิษฐานจิต” นั้นแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร ผมได้คำตอบนี้จากหลวงปู่คำพันซึ่งท่านไม่ได้ตั้งใจอธิบายเรื่องนี้ เป็นแต่ท่านชี้แจงให้เข้าใจถูก นั่นคือ เพื่อนของผมคนหนึ่งสร้างพระเครื่องเป็นการส่วนตัวขึ้นมาชุดหนึ่ง ไปกราบท่านและบอกท่านว่าขอเมตตาหลวงปู่ปลุกเสกพระให้ด้วย ซึ่งหลวงปู่ได้ตอบว่า “ปลุกเสกไม่ได้หรอก เพราะว่าปลุกเสกนั้นต้องจัดพิธี แต่หลวงปู่จะอธิษฐานจิตให้” และท่านก็ได้รับพระมาไว้ในมือ กำหนดจิตอธิษฐานให้เท่านั้น

เคยมีผู้ถามหลวงปู่คำพันเหมือนกันว่า หลวงปู่อธิษฐานจิตอย่างไร
“ปู่อธิษฐานว่าขอให้วัตถุมงคลเหล่านี้เป็นมงคล” ท่านตอบ

ง่ายเหมือนหลวงปู่แหวนไหมครับ

พระเครื่องหรือวัตถุมงคลต่าง ๆ ที่ออกมาจากครูบาอาจารย์สายนี้ส่วนใหญ่จึงสำเร็จขึ้นมาด้วยการอธิษฐานจิต ที่สำเร็จด้วยการปลุกเสกมีน้อยมาก

ครูบาอาจารย์ชั้นลูกศิษย์ที่ไม่ใช่หลานศิษย์ของหลวงปู่มั่นมีอยู่มากมายหลายองค์ ชั้นภูมิของพวกท่านย่อมมีทั้งเสมอกันและต่างกันจริตนิสัยก็ต่างกัน ในเรื่องพระเครื่องก็มีข้อแตกต่างกันบางองค์ใจดีมาก ๆ ก็ไม่ว่าอะไร พระเครื่องจึงมีออกมามากมายหลายรุ่น บางองค์ก็มีออกมาน้อยรุ่น บางองค์ก็ไม่มีเลย

เฉพาะองค์ที่มี จะได้ทยอยนำมาเผยแพร่ให้ทราบกันว่าท่านมีอะไรบ้างต่อไปตามลำดับ

ในสมัยของท่านพระอาจารย์มั่นล่ะมีบ้างไหม

เท่าที่ทราบกันอยู่ทั่วไปคือไม่มี ไม่เคยเห็นวัตถุเก็บพุทธคุณของท่านทิ้งไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลัง คงมีมรดกพระธรรมเท่านั้นที่ท่านมีไว้ให้อย่างเหลือเฟือซึ่งใครๆ ก็ได้อาศัยมรดกนั้นอยู่ทุกวันนี้

ยังมีเหรียญอยู่รุ่นหนึ่งออกที่วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ผมเลือนๆ ไปแล้วว่าเป็น พ.ศ.อะไร ไม่มีเวลาค้นดู แต่เหรียญนี้ก็เก่าพอควร เพราะว่าสร้างก่อนปี พ.ศ.2500 เรียกว่า เหรียญมั่น-เสาร์ แม้ว่าจะเป็นเหรียญที่สร้างไม่ทันชีวิตของท่านอาจารย์มั่นก็ตาม เหรียญนี้กลับได้ค่านิยมในวงการนักเล่นพระเครื่องถึงเรือนหมื่น

ล่าสุดไม่กี่เดือนมานี้ได้มีการขายเหรียญมั่น-เสาร์ในราคา 14,000 บาท สภาพของเหรียญสุดสวยจริง ๆ กะไหล่ยังอยู่ครบถ้วน นับว่าเป็นราคาที่น่าตระหนกตกใจไม่น้อย

ปัจจุบัน เหรียญมั่น-เสาร์ เป็นเหรียญหลักทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคแม้ว่าสภาพออกจะเลือน ๆ โดยมาก เพราะคนรุ่นเก่ามักแขวนพระเครื่องเปลือย จึงทำให้พระสึกหรอง่าย ๆ แต่กระนั้นสภาพสึก ๆ อย่างนั้นยังมีราคาหลายพันบาท อาจกล่าวได้ว่าเป็นเหรียญที่คนจนไม่มีสิทธิ์อีกเหรียญหนึ่ง

เหรียญมั่น-เสาร์ มีออกมาหลายรุ่น หลายวัดและพยายามคงลักษณะเดิมไว้ได้ใกล้เคียงมาโดยตลอดทุกยุคทุกสมัย ทว่าเหรียญที่ได้รับความนิยมที่สุดนั้นคือเหรียญที่ออกจากวัดบูรพาราม ถือว่าเป็นเหรียญที่สร้างขึ้นก่อน และเรียกกันว่าพิมพ์นิยม โดยมีข้อสังเกตที่ตัวอักขระด้านที่เป็นรูปพระอาจารย์มั่นซึ่งมีอยู่ 4 ตัว ก็เลยเรียกว่ายันต์ 4 แต่ของรุ่นอื่นๆ ก็มีมากกว่านั้น บางทีมี 8 ตัว หรือ 10 ตัว

พิธีพุทธาภิเศกเหรียญมั่น-เสาร์พิมพ์นิยมมีขึ้นที่วัดบูรพาราม ซึ่งท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาโม เป็นผู้นำในการปลุกเสก ซึ่งมีครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐานในขณะนั้นอีกหลายองค์เข้าร่วมพิธีด้วย โดยมีหลวงพ่อพุธ ฐานิโย(พระชินวงศาจารย์) เป็นเจ้าพิธี

คุณค่าของเหรียญนี้ผมเห็นว่ามีเรื่องที่ต้องเล่าอยู่เรื่องเดียว เรื่องอื่นก็ไม่สำคัญเท่า
นั่นคือครั้งหนึ่งวัดอโศการามถึงกับต้องมีการประชุมสงฆ์ เพื่อพิจารณาว่าจะมอบเหรียญมั่น-เสาร์ที่มีอยู่เป็นสมบัติวัดเพียงเหรียญเดียว ซ้ำยังเป็นเหรียญสึกๆ ให้กับมารดาคุณพิพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ถวายที่ดินสร้างวัดอโศกการามทั้งหมด การพิจารณานั้นแสดงคุณค่าของเหรียญนี้อย่างยิ่งใหญ่และในที่สุดก็มอบให้

ปัจจุบันเหรียญที่ทางวัดอโศการามมอบให้มารดาคุณพิพัฒน์ก็ยังอยู่ ผมเคยเห็นครั้งหนึ่ง แต่ไม่อาจจะนำภาพมาลงให้ผู้อ่านดูเหรียญนั้นได้ เพราะว่าคุณพิพัฒน์ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาเหรียญนั้นปัจจุบันอยู่ประเทศศรีลังกา

เหรียญมั่น-เสาร์ ที่ลงภาพให้ดูนี้ สภาพอยู่ระดับ 80 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสวยมากแล้ว และเป็นพิมพ์นิยมที่เล่นกันเป็นหมื่น

เป็นพระเครื่องดีองค์แรกที่ได้กล่าวถึงในบรรดาพระเครื่องสายกัมมัฏฐาน ซึ่งยังจะได้กล่าวถึงต่อไปอีกหลายองค์หลายอาจารย์

(เรื่องเหรียญบำรุงขวัญฉบับก่อนที่บอกว่า ได้ถวายเหรียญเงินแด่หลวงปู่คำพัน 30 เหรียญนั้น ความจริงถวาย 100 เหรียญครับ,ผมเผลอไป)

…………………………………………….

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ ฉบับที่ 211

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน