วิธีการเขียนเรื่องหรือเล่าเรื่องให้น่าสนใจ 2
เคยได้ยินไหมครับ
“อ่านเยอะๆ เขียนเยอะๆ”
สองประการนี้สร้างนักเขียนให้เกิดขึ้นในบรรณพิภพมาแล้วมากมาย
การอ่านถือเป็นหัวใจสำคัญของการเขียน
อ่านเยอะจะรู้เยอะ อ่านมากจะเข้าใจมาก
อ่านเยอะอ่านมากนี้ไม่ได้หมายความว่าแค่เพียงว่า อ่านเยอะแยะมากมายหลายแนวหลายอย่างหลากเรื่องสารพัดสารเพเท่านั้น
แต่อาจหมายถึงการอ่านซ้ำอ่านซากอยู่เพียงเรื่องเดียวเล่มเดียว ไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบอีกด้วย
อ่านจนจำได้ทุกบททุกคำทุกตัวอักษร
อ่านจนเห็นจนเข้าใจโครงสร้างและวิธีเขียนของเขา
อ่านจนกระจ่างในสำนวนภาษาที่เขาได้เรียบเรียงร้อยถ้อยอักษรของเขาออกมา
บางทีผลจากการอ่านนั้นยังรู้ไปถึงอารมณ์และความรู้สึกของผู้เขียนว่าเป็นเช่นใด
รู้กระทั่งบุคคลิกลักษณะตลอดจนอุปนิสสัยของผู้เขียนท่านนั้นว่าเป็นคนเยี่ยงไร
เหมือนที่เขาพูดไว้ว่า
“สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” หรือ “โง่ ฉลาด ฟังพูดก็เข้าใจ”
ก็อยู่ในหลักการเดียวกัน
คือมีตัวบ่งชี้ให้ได้เห็นตรงนั้น
อ่านเยอะๆแล้ว”บ่งชี้”ย่อมเกิดขึ้นให้เราได้เห็นในสิ่งที่บางคนที่อ่านแค่รอบเดียวอาจไม่เห็น
ผมเคยดูหนังจีนเรื่องหนึ่ง แนวดรามา ตรงต้องกับรสนิยมอย่างมาก
ชื่อภาษาอังกฤษว่า”The Moon,The Sun And The Star”
ฉายที่โรงหนังเล็กๆแถวโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เลยวัดอนงคารามไปทางปากคลองสานไม่ไกล
นานมากแล้วครับ ราวๆปี2514 จึงทำให้วันนี้นึกชื่อโรงหนังนั้นไม่ออก
คลับคล้ายว่า”จันทิมาเทียเตอร์”
ใช่หรือเปล่าก็ไม่รู้
กับหนังเรื่องนี้นะครับ ผมดูแล้วดูอีกไม่น้อยกว่า3รอบ กระทั่งวันสุดท้ายที่หนังจะออกจากโรงยังไปดูอีก1รอบส่งท้าย
หนังออกแล้วยังอาลัยอยากจะดูอีก
กระทั่งทุกวันนี้ยังอยากได้หนังเรื่องนั้นมาเก็บไว้ดูตลอดไป
ผลจากการดูอย่างเอาจริงเอาจัง ทำให้จำได้หมด จำได้กระทั่งบทพูดของหนัง( dialogue)
ภายหลังคิดถึงหนังเรื่องนี้มากเข้า ก็เอาปากกากับกระดาษมาลงมือเขียนตามบทพูดที่ยังจำได้แม่นทุกคำตั้งแต่ต้นจนจบ
การเขียนครั้งนั้นทำให้เกิดอะไรดีๆแก่ผมอย่างไม่คาด
นึกไม่ถึงเลยครับว่าจะเกิดประโยชน์แก่ตนเองให้ได้ใช้ประโยชน์จากวันนั้นมาจนวันนี้
สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นย่อมมีเหตุมีปัจจัยส่งให้เกิด
นึกย้อนหลังไปสมัยยังเด็กมากๆ
ยังไม่เข้าโรงเรียนด้วยซ้ำ
แต่กลับจำได้ไม่ลืม
พี่สาวคนหนึ่งชอบอ่านนิยาย ชอบถึงขนาดจุดเทียนแอบอ่านอยู่ในมุ้งทุกคืน
นั่นคงเป็นภาพที่ผมซึมซับเข้าไว้เป็นนิสสัยไม่รู้ตัว
พอเรียนชั้นป.4ผมก็เริ่มอ่านอย่างหนัก อ่านจนพวกพี่ๆเขาเริ่มกังวลว่าผมจะเป็นบ้า
เอาหนังสือนิยายทั้งชุดไปซ่อน
เรื่องนั้นคือ”ลูกคนยาก”เขียนโดย จ.ไตรปิ่น
ผมรู้ดีครับว่าเขาซ่อนหนังสือไว้ที่ไหน แกล้งทำไม่รู้ให้เขาตายใจ แล้วแอบไปหยิบออกมาแอบอ่านไม่ให้ใครเห็นทีละเล่มจนจบทั้งชุด
อ่านลูกคนยากจบแล้วก็แอบลักเอาเรื่องอื่นที่เหลืออยู่มาแอบอ่านจนหมดบ้าน โดยไม่มีใครรู้หรือจับได้
หลังจากนั้นการอ่านก้าวหน้ามาก
อ่านเล็บครุฑของคุณอาพนมเทียน
อ่าน พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต
อ่านงานเขียนของจำลอง พิสนาคะแนวกำลังภายใน
ต่อเนื่องจนถึงยุคคุณพี่ ว ณ เมืองลุง หรือ น,นพรัตน์ กระทั่งเห็นพัฒนาการในการใช้สำนวนที่ไม่เหมือนกัน
อ่านบางกอกรายสัปดาห์ตั้งแต่ฉบับแรกที่ออกวางตลาด จนติดนิยายสมิงเจ้าท่าของพี่ เพชร สถาบัน(สิทธา เชตวัน)
รวมไปถึงเล่มแรกที่วางตลาดของหนังสือฟ้าเมืองไทยของพี่อาจินต์ ปัญจพรรค์
วารสารชัยพฤกษ์ก็อ่านด้วยครับ
ทำให้เห็นแนวเขียนที่เป็นลักษณะแปลกต่างกัน
อ่านเยอะแยะจนจำไม่หวัดไม่ไหวจริงๆ
ลุกลามไปถึงวันที่ไม่มีอะไรจะให้อ่าน หันรีหันขวางคว้าหนังสือเรียนมาอ่านก็เอา
วิชาภาษาไทย วรรณคดี ผมอ่านจบเล่มนั้นตั้งแต่เทอมแรก อ่านล่วงหน้าก่อนครูจะสอน
วิชาประวัติศาตร์อ่านเจอเรื่องพระเจ้าตากสิน รู้สึกไม่จุใจ เข้าห้องสมุดหาอ่านเพิ่มเติม เจอเรื่อง ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน ของ หลวงวิจิตรวาทการ ยืมออกมาอ่านจบในคืนเดียว
ได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนั้นมาเขียนรายงานวิชาประวัติศาสตร์ ให้ครูถึงกับทึ่งเลยครับ
อ่านทุกแนว ไม่ว่าจะเป็นฟ้าบ่กั้น ของ ลาว คำหอม , ชั่วชีวิต ของ อ.อุดากร,เรื่องสั้นของ มนัส จรรยงค์,งานแปลที่พิเศษสุดทุกเรื่องของ อุษณา เพลิงธรรม,เรื่องผีของ เหม เวชกร ฯลฯ
อ่านย้อนไปถึงเรื่องของนักเขียนในอดีต กุหลาบ สายประดิษฐ์,อิศรา อมันตกุล.มาลัย ชูพินิจ เป็นต้น
ไม่เว้นกระทั่งเรื่องแปล
ผมรู้จักจอห์น สไตเบ็คตั้งแต่ยังเรียนชั้นประถม รวมทั้ง เออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์ และเซอร์ เอช ไรเดอร์ แฮกการ์ด
เหลือเชื่อจริงๆ การอ่านหนังสือนี่มันไม่เคยรู้จักคำว่าอิ่ม ไม่เคยพอ ยิ่งเสพย์สิ่งหิว
หันไปหาแนวปรัชญา ศาสนา วิทยาศาสตร์ เอามาอ่านมั่ง
อ่านท่านพุทธทาส มาหัดตายกันเถอะ อ่านคาริล ยิปราน อ่านใต้ทะเล 2หมื่นโยชน์ของ จูลส์ เวิร์น ( Jules Verne)
อ่านเมาคลีลูกหมาป่า เจมส์ บอนด์ ของเอียน เฟลมมิ่ง
แล้วก็อ่านจนต้องอาศัยเครื่องหมายนี้ล่ะครับ —> ฯ ล ฯ
การอ่านทั้งหลายทั้งปวงที่ช่างดูเหมือนผมจะเป็นคนบ้า
ดังที่พวกพี่น้องเขากังวล ควรค่าจะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้เกิดการเขียนบทพูดด้วยรำลึกและอาลัยต่อหนังเรื่องนั้นในกาลต่อมา
หลังจากนั้น
ผมซึ่งถือตนเองว่าอ่านเยอะพอ ได้เริ่มต้นจะเป็นคนเขียนเยอะกับเขามั่ง
ห้วงเวลานี้แหละที่ผมเริ่มจำกัดการอ่านของตนเอง เหลือเพียงงานเขียนของพี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ กับ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ซึ่งทุกวันนี้ผมยึดถือทั้งสองท่านเป็นครูโดยที่พวกท่านไม่เคยรู้
ขณะไหนเขียนหนังสือไม่ออก แค่หยิบงานของท่านใดก็ได้ เอามาเปิดอ่านเสียนิดหน่อย ก็สามารถจะกลับไปนั่งเขียนลื่นปรู๊ดโดยพลัน
************
นี่ครับหนังสือ2เล่มที่ผมอ่านซ้ำอ่านซากและยังเก็บไว้อ่านอยู่จนทุกวันนี้
เล่มแรก รวมงานเขียนของมรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหนังสือพิมพ์แจกงานศพท่านผู้ใดไม่ทราบ รายละเอียดตรงนี้หายไปพร้อมกับปก
เหลืออยู่ตามสภาพที่เห็น กระดาษเริ่มเหลือง เกือบจะกรอบ กำลังจะหมดอายุ
4หน้าแรก(2แผ่น)เป็นข้อเขียนของฝรั่งเกี่ยวกับพุทธศาสนา หลังจากนั้นเป็นข้อเขียนของคุณชายทั้งหมด
หนังสือเล่มนี้ศักดิ์สิทธิ์มากครับ
ไฟไม่ไหม้
ครั้งหนึ่งหนังสือพระนับร้อยเล่มที่เก็บสะสมไว้ทั้งกล่อง สกปรกเสียหายเพราะหนูมันทะลวงเข้าไป จึงให้ลูกน้องยกทั้งกล่องเอาไปเผา
ไม่ตรวจดูด้วยว่ามีหนังสืออะไร กลัวว่าดูแล้วจะกลับใจไม่เผา
หนังสือของคุณชายคึกฤทธิ์เล่มนี้ติดไปด้วย
เชื่อหรือไม่
เป็นหนังสือเล่มเดียวไฟไม่ไหม้
นอกนั้นไหม้เป็นขี้เถ้าหมด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่มีรูปหลวงพ่อหลวงปู่อะไรๆ ที่เขาชอบลือกันว่ากระทั่งรูปของท่านยังไม่ไหม้นั้น ยังวอดไปกับไฟในพริบตา
แต่หนังสือ มรว.คึกฤทธิ์ นี่แหละที่ปลอดภัยอยู่เพียงเล่มเดียว
รณธรรมรรม ธาราพันธ์ ได้ฟังเรื่องนี้ถึงกับร้องฮ้า
“จริงรึครู”
“จริง ”
“ศักดิ์สิทธิ์ิ์อะไรขนาดนั้น”
“คือบังเอิญข้าเดินเข้าไปดู ไฟกำลังลุก เหลียวเห็นหนังสือเล่มนี้เข้า ตกใจเลยว่ะ รีบหยิบออกมา ไฟก็เลยไม่ไหม้ไง”
—————————————————————————————–
ส่วนเล่มที่สอง
ร่ายยาวแห่งชีวิต
เป็นอัตประวัติของพี่อาจินต์เอง
พี่ท่านมอบให้ผมพร้อมลายลิขิตที่หน้าปก โดยฝากมากับพี่แอ๊ว(ราช เลอสรวง)ตั้งแต่ปี2521
ผมมีวาสนาได้เขียนภาพหน้าปกให้พี่เขาด้วย
ตั้งใจเขียนมาก แต่ภาพออกมาห่วยแตก ไม่สมกับที่ตั้งใจแม้แต่น้อย
พี่อาจินต์เวลานั้นเรียกผมว่า”เจน”
หนังสือแค่2เล่มนี้ทำให้ผมรู้จักคำว่าอิ่มและพอกับเขาบ้าง
หันไปเสพย์หนังสืออื่นแล้วมีอันต้องกลับมาเสพย์2เล่มนี้เหมือนเก่าทุกที