ucep เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิรักษาทุกที่

UCEP คืออะไร

UCEP  (Universal Coverage for Emergency Patients ) เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลให้กับประชาชนคนไทย

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 และได้เริ่มต้นโครงการ “สิทธิ UCEP” เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 ได้มีการแก้พระราชบัญญัติสถานพยาบาล ฉบับที่ 4 ให้อำนาจคณะกรรมการสถานพยาบาล ในการออกกฎหมายหรือออกระเบียบเพื่อให้โครงการ UCEP เกิดขึ้นได้ โดยระเบียบดังกล่าวได้กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนจะต้องให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ โดยไม่เรียกเก็บเงิน และให้โรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินจากกองทุนต่างๆ ได้แก่ กองทุนประกันหลักสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ซึ่งถือได้ว่าการรักษาพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินตาม “สิทธิ UCEP” ของโรงพยาบาลเอกชนจะมีรัฐบาลเป็นประกันว่าสามารถเก็บเงินได้แน่นอน และถือว่าประชาชนคนไทยทุกคนมีสิทธิใช้ “สิทธิ UCEP”

 

อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ที่เข้าเกณฑ์ใช้สิทธิ UCEP  6 อาการ

1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ

2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง

3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม

4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง

5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด

6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

 

 

อาการอื่นๆนอกไปจาก  6 อาการนี้ จะขึ้นอยู่กับการตรวจวินิฉัยของแพทย์เจ้าของไข้ เช่นว่า ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยด่วน อาจเสียชีวิตได้ทันที

แต่จะต้องเป็นอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินของผู้ป่วยที่อยู่นอกโรงพยาบาลเท่านั้น

สิทธิ UCEP ใช้ไม่ได้กับผู้ป่วยที่เกิดอาการวิกฤตภายหลังจากเข้ารับรักษาโดยเป็นคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลอยู่แล้ว

ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจะได้รับรักษาพยาบาลตามสิทธิ UCEP ภายในเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว หากสามารถย้ายผู้ป่วยไปรักษาต่อในโรงพยาบาลของรัฐได้ก็ให้ย้าย ถ้าย้ายไม่ได้และเกิน 72 ชั่วโมงไปแล้วอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้กองทุนต่างๆ ที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติใช้อยู่อาจจะต้องเข้ามาเจรจาค่าใช้จ่ายในส่วนนี้กับทางโรงพยาบาลเอกชน

ขั้นตอนในการใช้สิทธิ UCEP มีดังนี้

– ตรวจสอบสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาลที่ตนเองมี โดยสามารถตรวจสอบสิทธิได้ ณ โรงพยาบาลทุกแห่ง หรือสำนักงานเขต หรือ โทร. 1330 สายด่วน สปสช. เพื่อสอบถามสิทธิการรักษาพยาบาลของเราได้

– กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ และเป็นโรงพยาบาลนอกคู่สัญญากับโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิให้แจ้งโรงพยาบาลรับทราบว่า ขอใช้สิทธิ UCEP

– โรงพยาบาลจะทำการประเมินอาการผู้ป่วยตามหลักเกณฑ์ของ UCEP ทว่าหากมีปัญหาในการคัดแยกให้ปรึกษาศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. ได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่หมายเลข 0-2872-1669

– เมื่อโรงพยาบาลประเมินอาการผู้ป่วยแล้วจะแจ้งผลการประเมินให้กับผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยรับทราบ

– หากเข้าเกณฑ์ UCEP ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการตามระบบ UCEP ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมง หรือเมื่อพ้นภาวะวิกฤต

– ในกรณีที่ผลการประเมินไม่เข้าหลักเกณฑ์ USEP ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเองหากต้องการรักษาในโรงพยาบาลเดิมที่ตัวเองไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลใด ๆ

 

หมายเลขโทรฯ UCEP  1330 สามารถโทรฯได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

CR : health.kapook.com / posttoday.com / nhso.go.th / today.line.me

 

 

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน