เทศกาลประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา
ไปเที่ยวอุบลราชธานีกันเถอะ
เทศกาลเข้าพรรษากำลังจะมาถึงแล้วในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ถ้ายังไม่มีโปรแกรมจะไปไหน ไปเที่ยวอุบลราชธานีกันดีกว่า
งานแห่เทียนเข้าพรรษาที่นั่นยิ่งใหญ่ให้ผู้คนกล่าวขวัญถึงอยู่ทุกปี
เป็นฮีตที่ 8 หนึ่งในบุญประเพณีฮีตสิบสองของชาวอีสาน
ระหว่างเดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน เป็นช่วงของฤดูฝน ดอกอีฮีนกำลังสะพรั่งทั่วทั้งท้องทุ่งนา สีน้ำเงินแกมม่วงของมันแสดงความงามอย่างแปลกตา ถ้าหากจะมองอย่างผู้ไม่คุ้นเคย
แต่กับคนอีสานผู้คุ้นเคยแล้ว มันเตือนให้นึกถึงอ่อมหอย อ่อมปลา หลน ป่นปลาแดก ซึ่งมันมีส่วนชูกลิ่นชูรสเป็นอย่างมากและที่สำคัญที่สุด มันเตือนให้นึกถึงงานบุญเข้าพรรษา ในทันที่ที่ดอกแรกของมันบานในทุ่งนา
เมืองใหญ่ งานก็ใหญ่ ชาวอุบลฯ ภูมิใจกับงานแห่เทียนของพวกเขามานานนับสิบ ๆ ปี แต่มันเพิ่งจะมาเปิดเผยหน้าตาให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้คนทั่วไปไม่กี่ปีนี้เอง ตั้งแต่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนสนับสนุน และโปรโมทให้งานนี้บูมขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เช่นเดียวกับที่ได้ส่งเสริมให้งานช้างสุรินทร์ งานเทศกาลไหมและผูกเสี่ยวที่ขอนแก่น งานแห่ปราสาทผึ้งที่สกลนครจนโด่งดัง
เล่ากันมาว่า ที่ได้มีงานแห่เทียนเป็นเรื่องเป็นราวอันยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้นั้น เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2480 นายโพธิ ส่งศรี มรรคนายกวัดสุปัฏวนารามวรวิหาร อารามหลวงแห่งเมืองอุบลฯ ซึ่งมีอาชีพเป็นช่างตีทองและดุมโอ คือเป็นช่างทองและช่างทำขันเงินนั่นเอง ความที่เป็นผู้สามารถในด้านแกะลวดลายไทยจึงคิดออกแบบทำพิมพ์หล่อเทียนเป็น ดอก ดวง ลวดลายต่าง ๆ แล้วนำไปประดับในต้นเทียนอย่างสวยงาม จากนั้นจึงถวายให้กับวัดสุปัฏฯ เป็นแห่งแรก เป็นเหตุให้มีผู้เห็นชอบ ลงมือทำตามอย่างนั้นบ้าง
ในปีนั้นเอง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ผู้ปกครองคณะสงฆ์ในมณฑลอีสาน มีความประสงค์ต้องการทำนุบำรุงพระศาสนาและอบรมประชาชนทั่วไปให้มีความรอบรู้ และมีความรักใคร่สมัครสมานสามัคคีกลมเกลียวกัน จึงได้คิดริเริ่มให้มีการนำต้นเทียนมาแห่ร่วมกันในวันเข้าพรรษา
สถานที่แห่งแรกที่เริ่มงานแห่เทียนคือ ทุ่งศรีเมือง
แห่แหนที่นั่นเสร็จแล้วจึงค่อยแยกย้ายกันนำต้นเทียนกลับวัดในคุ้มของตน
แต่นั้นมาจึงได้มีการรวมเทียน และแข่งขันประกวดประชัน ความงามกับฝีมือแกะสลักเทียนอย่างวิจิตรพิสดารขึ้นทุกๆ ปี จนกระทั่งถึง พ.ศ 2520 องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ จึงได้เข้าไปสนับสนุนอย่างจริงจัง และทุกปีหลังจากนั้นมา เทียนสำคัญเล่มหนึ่งจะเดินทางไปจากกรุงเทพฯ ไปเป็นเทียนเอกเทียนขวัญของงาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานเทียนเล่มนั้นให้แก่ชาวอุบลฯ เพื่อร่วมในงานบุญประเพณีโดยเฉพาะ และทรงพระราชทานให้เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอตลอดมาทุก ๆ ปี
นี่เป็นเรื่องเป็นราวที่ต้องอวดกัน จะเก็บไว้ภูมิใจเงียบ ๆ ได้ยังไง
ความงามและศิลปะการแกะสลักต้นเทียน ที่มิใช่จะหาดูกันได้ง่าย
นี่ก็ต้องอวดและต้องชวนให้ไปดูกันว่า งามจริงไหม
รวมทั้งรอยยิ้มชื่นบานหรรษาของชาวเมืองกับการละเล่นพื้นบ้าน เพลงลำ เพลงแคนเคล้าเสียงซึง ซึ่งกระหึ่มเร้าใจให้คึกคักสนุกสนานตลอดเวลาที่ขบวนแห่เทียนต้นแรกเคลื่อน ผ่านเข้ามาในดวงตาจนแม้กระทั่งต้นสุดท้าย
มั่นใจว่ามันคือเสียงคือภาพที่พร้อมจะเข้าเบียดเข้าแย่งเนื้อที่ความประทับใจและความทรงจำในสมองของผู้เพลินชมได้อย่างองอาจเต็มภาคภูมิ
เที่ยวชมขบวนแห่เทียนเสร็จสิ้นแล้วยังกลับไม่ได้
ปีนี้มีวันหยุดติดต่อกันตั้งสี่วัน
แบ่งเวลาที่เหลือสักวันหนึ่งไปเที่ยวชมธรรมชาติ และชมหน้าตาที่แท้จริงอีกด้านหนึ่งของเมืองอุบลฯ บ้าง ไปที่โขงเจียมเถอะ ที่นั่นเป็นบริเวณที่แม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง เหนือตัวอำเภอโขงเจียมขึ้นมาเล็กน้อย มีแก่งตะนะนี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่ควรแวะลงไปสัมผัสให้ได้
ถ้าจะเริ่มต้นจากตัวจังหวัด ก็ให้มุ่งหน้าไปตามเส้นทางสายพิบูลมังสาหาร จะผ่านอำเภอวารินชำราบและตรงไปยังอำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งที่นั่นมีแก่งสะพืออันลือชื่อมานานปี แวะชมเสียหน่อย แก่งนี้อยู่ในตัวอำเภอ การไปมาสะดวกที่สุด คล้าย ๆ กับน้ำตกมวกเหล็กนั่นแหละ อยู่ห่างจากตัวอำเภอเพียงกิโลเมตรเดียวเท่านั้น
แก่งสะพือนี้แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า แก่งกาซัญปี้ด ซึ่งหมายถึง งูใหญ่ คนส่วยเป็นผู้ค้นพบแก่งนี้ จากการเดินทางอพยพมาสู่ลุ่มแม่น้ำมูลในสมัยแรก ๆ โดยข้ามเข้ามาจากด้านปากแม่น้ำโขง ลัดเลาะมาตามสายน้ำจนมาพบตอนที่ตื้นเขินที่สุดซึ่งก็คือ แก่งสะพือ จึงข้ามฟากมาทางด้านฝั่งอำเภอพิบูลมังสาหารในปัจจุบันนั่นเอง
ใต้แก่งสะพือลงไปยังมีแก่งน้อยใหญ่กั้นแม่น้ำมูลไว้เป็นช่วง ๆ อีกมากมาย เช่นแก่งไก่เขี่ย แก่งคับพอง แก่งคอนเลี้ยว แก่งตาดไฮใหญ่ แก่งคันลืม แก่งตุงลุง แก่งตาดไฮน้อย แก่งเขียง จนถึงแก่งสุดท้ายคือแก่งตะนะ ซึ่งแต่เดิมหมายถึงความตาย คือแก่งมรณะ นั่นเอง
อยู่ที่แก่งสะพือพอสมควรแล้วต้องรีบออกเดินทาง ยังจะต้องไปอีกไกล ย้อนกลับมาสู่เส้นทางเดิม แล้วมุ่งหน้าต่อไปสู่ช่องเม็ก ก่อนถึงช่องเม็กเล็กน้อยจะมีทางแยกและป้ายปักบอกอย่างชัดเจนว่า ทางไปอำเภอโขงเจียม ให้มุ่งหน้าไปตามเส้นทางนั้น และก่อนถึงอำเภอโขงเจียมเพียง 6 กิโลเมตรก็จะถึงทางแยกเข้าสู่วนอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ จากทางแยกเข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตรเท่านั้น ก็จะถึงแก่งตะนะหรือแก่งมรณะได้อย่างสะดวกสบาย
ตรงนี้แหละที่เคยเป็นฉากสำคัญในภาพยนต์เรื่องลูกแม่มูล และลูกอีสาน ซึ่งชาวเรือมักมาค้างที่นี่และหาปลากันตลอดทั้งคืน และแม้แต่กลางวันภาพเรือหาปลาจะปรากฏอยู่ลิบๆ เหนือแก่งใหญ่ ถ้าหากอยากจะกินปลาสด ๆ ก็ไปเลยที่เดียว ขอซื้อแบบกันเองจากชาวเรือเหล่านั้น แล้วหามุมเหมาะ ๆ เผากินกันสด ๆ จะได้บรรยากาศสนุกสนานไปอีกแบบหนึ่ง
และจากจุดที่ชาวเรือออกมาหาปลากัน หากมองลงไปทางใต้แก่งจะเห็นแม่น้ำโขงทอดตัวขวางอยู่ตรงหน้า ตรงนั้นคือปากแม่น้ำมูล ซึ่งใหลลงไปบรรจบกับแม่น้ำโขง และเทือกเขาที่เห็นลิบ ๆ นั้นคือแผ่นดินของบ้านพี่เมืองน้องของไทยเรานั่นคือ ประเทศลาวในอดีต หรือที่มีชื่อใหม่ว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน
ที่แก่งตะนะนี้ แม้จะเพลินอยู่ทั้งวันก็สนุก เพราะความกว้างใหญ่ และบรรยากาศที่แปลกไปจากแหล่งท่องเที่ยวอื่น อาจตรึงบางคนไว้ที่นั่นอย่างไม่รู้ตัว แต่ที่สำคัญมาก ๆ ต้องเตรียมเสบียงไปให้พร้อม ที่นั่นไม่มีแม่ค้าคอยอำนวยความสะดวกเรื่องของกินทุกสิ่งทุกอย่าง ในบริเวณแก่งตะนะจึงยังคงไว้ซึ่งความเป็นธรรมชาติแท้จริง
แก่งตะนะถือว่าเป็นของแถม เพียงแค่ชมขบวนแห่ต้นเทียนสลักก็เกินคุ้ม ถ้ามีเวลาพอก็ไม่ควรปล่อยของแถมให้หลุดมือไปเหมือนกัน บางทีของแถมก็อาจทำให้ลืมอุบลฯ ไม่ลงก็ได้
นี่ก็ใกล้วันหยุดเข้าพรรษาเข้าทุกที ถ้ายังไม่รู้ว่าจะไปไหนดี บรรจุเทศกาลแห่เทียนที่อุบลฯ เข้าในโปรแกรมด้วยก็ไม่เลวนะขะรับ
…………………………………………
งานเขียนของ อำพล เจน
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสารแปลก ฉบับที่ 437 วันที่ 10 กรกฎาคม 2527